มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
Sustainable Development Foundation (SDF)
กระแสโลกาภิวัฒน์และทุนนิยมส่งผลให้การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปเพื่อความสำเร็จในเชิงปริมาณแต่ขาดคุณภาพด้านสมดุล ชุมชนพึ่งตนเองลดน้อยลง เกิดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนเพิ่มขึ้น ด้วยแนวคิดการพัฒนาแบบแยกส่วน เกิดการแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ และความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาที่ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว และจากภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นตามมา
อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่ามีทางเลือกในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสม คือ การให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนรวมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของคนที่หลากหลาย ทั้งนี้เพราะชุมชนอยู่ใกล้ชิดพื้นที่ เข้าใจปัญหา และภูมิปัญญาท้องถิ่นในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่เหมาะสมกับสภาพภูมินิเวศ สามารถสร้างความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
การพัฒนาภายใต้แนวคิดที่ว่า มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่ไม่อาจแยกออกมาจากระบบนิเวศ หากใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างล้างผลาญจนเสียภาวะสมดุลนิเวศ มนุษย์ย่อมได้รับผลพวงแห่งปรากฏการณ์นั้นเช่นกัน จากกรณีดังกล่าวจึงเกิดแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น ซึ่งเป็นการพัฒนาที่เน้นความเป็นองค์รวมและบูรณาการ
การที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยังยืนต้องยึดหลักการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งมนุษย์จะต้องเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกันและพึ่งพากันทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา เทคโนโลยีและหลักมนุษยธรรม ซึ่งให้ความสำคัญกับการดำรงอยู่ของวิถีชีวิตของคนในชุมชน ภูมิปัญญาท้องถิ่นและความสมดุลของฐานทรัพยากรธรรมชาติ อันจะนำไปสู่การพึ่งตนเองของชุมชนและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เป็นการสร้างความสมดุลของสังคมด้วยการพัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง ตลอดจนการมีส่วนร่วมของชุมชน ของหญิงและชาย ในการกำหนดและร่วมดำเนินกิจกรรมการพัฒนา ทั้งในท้องถิ่นและระดับนโยบาย
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2539 และจดทะเบียนเป็นมูลนิธิฯ เมื่อธันวาคม ปี 2542 โดยปี 2542-2545 ทางมูลนิธิฯ ได้ร่วมกับนักพัฒนาที่ทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ทำงานร่วมกันภายใต้ “โครงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน” โดยมีพื้นที่ทำงานในภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและก่อเกิดรูปธรรมของงานที่หลากหลายประเด็น เช่น การสนับสนุนและส่งเสริมให้องค์กรประชาชนที่เข้ามาทำงานพัฒนาและงานนโยบาย เช่น สมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เป็นต้น นอกจากนี้ได้ทำการประสานความร่วมมือทางนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร ร่วมมือกับเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
ปัจจุบันมูลนิธิฯ ให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อสร้างรูปธรรมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติควบคู่กับการพัฒนาระบบการจัดการภัยพิบัติธรรมชาติโดยชุมชน โดยทำหน้าที่ในการประสานและพัฒนาการดำเนินงานให้เกิดการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม โดยเห็นว่าการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความเข้มแข็ง และพัฒนาศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเป็นฐานดังกล่าวได้ถูกกำหนดเป็นนโยบายและแผนของหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้โครงการจะให้การสนับสนุนชุมชนในการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมและรับมือจากภัยพิบัติธรรมชาติ รวมทั้งการจัดตั้งกลไกและองค์กรซึ่งจะขับเคลื่อนกิจกรรมการจัดการภัยพิบัติในระดับชุมชนอย่างต่อเนื่องและสร้างสรรค์ต่อไป
นอกจากนี้การทำงานขององค์กรได้มุ่งเน้นการพัฒนาและฟื้นฟูองค์ความรู้ ภูมิปัญญาของชาวบ้าน เพื่อให้สามารถจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อสร้างการพึ่งพาตนเอง โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพของผู้หญิงเพื่อสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของชุมชน ด้วยความเชื่อว่าผู้หญิงมีพลังสร้างสรรค์ และการที่ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงสังคมจะนำไปสู่การพัฒนาที่มีดุลยภาพ
วัตถุประสงค์ 
- ส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่องค์ความรู้เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน
- ส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาประสิทธิภาพขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาชน กลุ่มหรือเครือข่ายในรูปแบบต่างๆ เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- เสริมสร้างและขยายการประสานงาน ประสานเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรประชาชนให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการทำงานให้บรรลุเป้าหมาย
- เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะชนเพื่อให้เกิดความตระหนักและร่วมกันแก้ไขปัญหาตั้งแต่ระดับปฏิบัติถึงระดับนโยบาย
- เสริมสร้างความเข้าใจอันดีและก่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาที่ยั่งยืนระหว่างภาคประชาชน วิชาการ รัฐ ธุรกิจเอกชน และภาคีอื่นๆ รวมถึงส่งเสริมความร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยกับต่างประเทศ
วิสัยทัศน์
ส่งเสริมและเสริมสร้างการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อการพัฒนาสังคมที่มีคุณภาพเป็นธรรมและยั่งยืนเป็นฐานการรับรองและเคารพสิทธิมนุษยชน
ภารกิจ
- ส่งเสริมคุ้มครองและปกป้องสิทธิภาคประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มคนชายขอบและผู้ยากไร้สามารถเข้าถึงและได้การรับรองสิทธิในการเข้าร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้รักษาและฟื้นฟูความสมดุลฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของการพึ่งตนเองและเสริมสร้างเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นที่ยั่งยืน
- การเสริมสร้างธรรมาภิบาลในการจัดการ จัดทำนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสริมและพัฒนามิติหญิงชายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งสืบสานเจตนารมณ์สู่คนรุ่นใหม่
- สนับสนุนการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนฐานล่างและประสานการทำงานภาค ประชาชนในการมีส่วนร่วมในการจัดทำนโยบายสาธารณะ
- ศึกษาวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ พัฒนาการเรียนรู้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
ยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงาน
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การปฏิบัติการด้านสิทธิและสร้างการมีส่วนร่วมในการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม
แปรความคิดสู่ปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่ปฏิบัติงาน โดยเชื่อว่า รูปธรรมในพื้นที่ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรู้ความเข้าใจของชุมชนในสิทธิและความชอบธรรมในการเข้าร่วมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติแบบองค์รวม
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาองค์ความรู้
การพัฒนาองค์ความรู้เป็นภารกิจสำคัญจำเป็นจะต้องมีการสนับสนุนให้ผู้ที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้ได้ ถอดองค์ความรู้รวมทั้งสามารถที่นำเสนอองค์ความรู้ของตนเองสู่ผู้อื่นและสาธารณะได้
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมและพัฒนาสมรรถนะแห่งสิทธิของชุมชนกับการพัฒนานโยบายสาธารณะ
การเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากภาคประชาชน โดยการพัฒนากลไกความร่วมมือให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชนในระดับต่าง ๆ ก่อให้เกิดพลังที่เข้มแข็ง เอื้อให้ประชาชนได้มีส่วนกำหนดนโยบายสาธารณะที่ให้หลักประกันอย่างยั่งยืนเสมอภาพ และเป็นธรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบการจัดการข้อมูล
การจัดทำงานข้อมูลถือเป็นหัวใจหลักของการทำงานขององค์กร สถานการณ์ในสังคมได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและความสำคัญของการทำข้อมูล เนื่องจากข้อมูลจะเป็นฐานสำคัญในการนำมาใช้ในการมาใช้กำหนดทิศทางการปฏิบัติงานขององค์กร
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การรณรงค์เผยแพร่และสื่อสารสาธารณะ
พัฒนาให้เกิดความหลากหลายของสื่อ เช่น เวบไซด์ นิทรรศการ โปสเตอร์ หนังสือ และสื่อสิ่งพิมพ์อื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อให้กลุ่มคนที่มีอยู่หลากหลายในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมและตระหนักร่วมในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและการพัฒนาประเทศร่วมกับองค์กรภาคประชาชนที่มีอยู่ส่วนน้อย และเพื่อเป็นการแพร่ขยายองค์ความรู้และสร้างการรับรู้ที่กระจายออกไปในวงสังคม
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การพัฒนาองค์กรและบุคลากร
การพัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่องซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดกระบวนฝึกอบรมให้กับบุคลากร หรือส่งบุคลากรเข้าฝึกอบรมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับงาน โดยบุคลากรขององค์กรและเครือข่ายเป็นทั้งคนที่มีคุณภาพและสามารถปฏิบัติงานได้จริง และอยู่ในความสนใจของบุคลากรที่ต้องการพัฒนาตัวเองด้วย
การยกระดับองค์กรสู่การพึ่งตนเองในด้านงบประมาณเป็นแผนงานใหม่ที่ต้องการสร้างความเป็นอิสระขององค์กรในการทำงานโดยไม่ขึ้นกับแหล่งทุน เป็นการพัฒนาองค์กรไปสู่การกระบวนการทำงานที่เป็นอิสระ คล่องตัวและตอบสนองกับสถานการณ์ความเป็นจริงในสังคมมากกว่าความสนใจเฉพาะของผู้ที่ให้การสนับสนุน
คณะกรรมการบริหาร
นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานกรรมการ
นางจารุณี เชี่ยววารีสัจะ รองประธานกรรมการ
นายประสาท มีแต้ม กรรมการ
นายไพสิฐ พาณิชย์กุล กรรมการ
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการและเหรัญญิก
นางเรวดี ประเสริฐเจริญสุข กรรมการและเลขานุการ
ติดต่อเรา
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (มพย.)
86 ซอยลาดพร้าว 110 (แยก 2) ถนนลาดพร้าว
แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ 10310
โทรศัพท์ 0-2935-3560-2 โทรสาร 0-2935-2721
E-mail : sdfthai@gmail.com Website : sdfthai.org
สำนักงานภาคเหนือ
77/1 หมู่ 5 ตำบลสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ /โทรสาร 0-5381-0623-4
E-mail : sdf_cm@yahoo.com