“อากาศไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างเดียว แต่บ้านเรามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง บ้านช่อง ผู้คน เอาง่ายๆ แค่ทำนา เมื่อประมาณสี่สิบห้าสิบปีที่แล้วเราทำนาได้เฉพาะหน้าฝน เพราะยังไม่มีชลประทาน พันธุ์ข้าวที่ปลูกก็มีอยู่ไม่กี่พันธุ์ แล้วตอนนี้ละ เราทำนาปีหนึ่งได้สองครั้งเป็นอย่างน้อยไม่ว่าจะเป็นนาปี หรือนาปรัง บางรายทำนาถึงสามครั้งถ้าน้ำที่ชลประทานส่งมาให้มันมีเยอะก็ทำได้เยอะ พันธุ์ข้าวก็มีมากขึ้นปลูกไม่กี่วันก็โตเก็บเกี่ยวได้ เมื่อก่อนต้องปลูกพันธุ์พื้นบ้านระยะเวลาในการดูแลมันนาน แล้วตอนนี้การทำเถือก เกี่ยวข้าวก็สะดวกมีเครื่องจักรช่วยให้เบาแรงขึ้นเยอะ ไม่ต้องมาใช้วัวเทียมเกวียน”
ชาวนาตำบลบ้านไร่มะขาม,
ตำบลไร่มะขาม เป็นตำบลแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในอำเภอบ้านลาด ของจังหวัดเพชรบุรี แบ่งออกเป็น 9 หมู่บ้าน ผู้คนส่วนใหญ่ทำนาและทำไร่ เป็นอาชีพหลัก เพราะพื้นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ราบลุ่มตอนกลางของแม่น้ำเพชรบุรี และมีคลองส่งน้ำชลประทานจากโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีไหลผ่าน เมื่อน้ำท่าและดินอุดมสมบูรณ์การเพาะปลูกจึงเหมาะสมกับพื้นที่นี้เป็นอย่างยิ่ง
จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ลุ่มน้ำเพชรบุรี ทำให้ค้นพบว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในพื้นที่ตามมา ดังจะเห็นได้จากการเปลี่ยนระบบการผลิตจากเพื่อการบริโภคมาเป็นการผลิตเพื่อขาย เป็นผลให้ชาวนาต้องทำนาเพิ่มขึ้น และยิ่งมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์และสภาพพื้นที่ที่เอื้ออำนวยยิ่งทำให้ชาวนาเพิ่มรอบในการทำนามากขึ้น หลายปีที่ผ่านมาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงของการรับประกันราคาข้าวและการรับจำนำข้าว ทำให้ชาวนาหลายคนเพิ่มพื้นที่ทำนาโดยการซื้อนาเพื่อทำนาหรือเช่าพื้นที่ทำนาเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะได้มีพื้นที่ทำการผลิตเพิ่มขึ้น ทุกอย่างเป็นไปตามกลไกความต้องการของตลาด แต่เมื่อหมดยุคของการรับประกันราคาข้าวและการรับจำนำข้าว ชาวนาก็ต้องปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับกลไกตลาดที่เปลี่ยนไป
ไม่เพียงแต่กลไกตลาดที่จะเป็นแรงจูงใจและนำพาการตัดสินใจของชาวนา แต่ในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา (2556-2559) ชาวนาในตำบลไร่มะขามเริ่มเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำนาปรังได้บ่อยครั้งขึ้น เพราะน้ำต้นทุนจากเชื่อนเพชรที่เคยเพียงพอและส่งมาให้ตลอดทั้งปี เริ่มไม่พอและต้องมีการจัดสรรน้ำกันอย่างเข้มข้ม หลายคนมองว่าเป็นธรรมดาของธรรมชาติ เพราะหากไม่มีฝนตกเหนืออ่างแก่งกระจาน แล้วหน่วยงานจะเอาน้ำที่ไหนมาจัดสรรให้กับเกษตรกร ขณะที่หลายคนเริ่มตั้งคำถามต่อเนื่องไปว่า ฝนตกน้อยลงในแต่ละปี หรือว่าฝนตกเท่าเดิมแต่ไม่ตกเหนืออ่าง จึงทำให้ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอหรือลดน้อยลงทุกปี
แต่ในความเป็นจริงแล้วพบว่าปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างแก่งกระจานมีค่าประมาณ 800-1200 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างแก่งกระจานจะมีความผันผวนขึ้นกับปริมาณฝนที่ตกในแต่ละปี นั้นหมายความว่าหากปีไหนฝนตกมากก็จะมีโอกาศที่น้ำในเขื่อนแก่งกระจานจะมีปริมาณมากขึ้นไปด้วย แต่ขณะเดียวกันพิจารณาถึงความต้องการใช้น้ำของผู้คนทุกภาคส่วนพบว่า ความต้องการใช้น้ำสูงสุดในทุกกิจกรรมประมาณ 1200 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และความต้องการใช้น้ำต่ำสุดในทุกกิจกรรมประมาณ 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งหมายความว่า หากปีไหนปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างแก่งกระจานน้อยกว่า 800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี นั้นเป็นปีที่มีโอกาสเสี่ยงในอนาคตต่อผู้ใช้น้ำในทุกภาคส่วน
ชาวนาในตำบลไร่มะขามหลายคนเริ่มเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมตัวเพื่อรับมือกับการไม่ได้ทำนาปรังเพิ่มขึ้น หลายคนเริ่มหันมาปลูกดอกไม้เพื่อเพิ่มรายได้ หลายคนกลับไปทำไร่ในช่วงหน้าแล้งเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการย้อนวิถีกลับไปสู่ช่วงของการที่ต้องทำนาได้เพียงครั้งเดียวต่อปี
“ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา เราเจองานหนัก ไม่ว่าจะเป็นราคาข้าวที่ตก ไม่มีการจำนำ ไม่มีการประกัน ทำให้รายได้จากการขายข้าวลดลงไปครึ่งต่อครึ่ง น้ำที่ใช้ทำนาก็ไม่พอเหมือนเมื่อก่อน แต่อย่างน้อยก็ยังดีที่เราได้ทำนาปี ปีนี้ (2558) ยิ่งแล้งเข้าไปใหญ่ แต่เราก็จะต้องหาอาชีพอื่นๆ เสริมเพิ่มเติมกัน”
ชาวนาตำบลบ้านไร่มะขาม,
ขณะที่ชาวนาบางส่วนของตำบลบ้านไร่มะขามที่รวมกลุ่มกันในนามศูนย์ข้าวชุมชนตำบลบ้านไร่มะขาม ที่เริ่มต้นจากงานผลิตข้าวพันธุ์เพื่อส่งขายและจำหน่ายให้กับชาวนาในพื้นที่ ได้เห็นถึงแนวโน้มของการขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกที่อาจจะส่งผลรุนแรงขึ้นในอนาคต จึงได้เริ่มทดลองปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ใช้น้ำน้อยลง หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกข้าวเพื่อให้ใช้น้ำได้น้อยลง อีกทั้งมองว่าการผลิตข้าวในอนาคตจะต้องทำการผลิตแบบ “คุณภาพนำราคา” คือให้ความสำคัญกับการผลิตข้าวปลอดสารเคมีที่มีคุณภาพดีเพื่อให้สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงขึ้น แทนการผลิตข้าวเพื่อให้ได้ปริมาณเยอะตามปริมาณที่ตลาดต้องการแต่ราคาต่ำ เพราะทางกลุ่มมองว่าปัจจุบันนี้คนให้ความสำคัญกับสุขภาพเพิ่มขึ้น และชาวนาในตำบลบ้านไร่มะขามเองก็มีอายุเพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่เด็กรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญกับการทำนาและการเกษตรน้อยลง
“ปัจจุบันนี้คนรุ่นลูกก็ไม่มาทำนากันแล้ว น้อยมากที่จะมาทำนา ส่วนใหญ่คนที่มาทำก็จะเป็นคนที่ไม่ค่อยได้เรียนหนังสือ คนที่เรียนกันสูงๆ เขาก็ไปทำงานในเมือง ไปรับราชการ ไปทำงานบริษัท คิดไปคิดมาก็กลับมาดูตัวเอง เราเองนั้นแหละที่ส่งเขาไปไม่อยากให้เขาต้องมาลำบากทำงานตรากตรำเหมือนเรา”
ชาวนาตำบลบ้านไร่มะขาม,
สิ่งเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและการปรับตัวของคนเพียงกลุ่มหนึ่งที่อาจจะไม่ได้มองเห็นปัญหาทั้งหมด แต่เขาเห็นเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ดังนั้นการกำหนดทิศทางเพื่อความอยู่รอดจึงเป็นไปตามความรู้ที่มีอยู่เดิม ซึ่งอาจจะเพียงพอและเหมาะสมแล้วในช่วงเวลานี้และไม่กี่ปีข้างหน้า แต่เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงเกิดสิ่งสำคัญคือการลุกขึ้นมากำหนดความต้องการของตนเองให้ได้ก็น่าจะเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นที่คนในทุกพื้นที่ควรจะใส่ใจและลุกขึ้นมาปฏิบัติให้ได้