เว็บไซด์นี้ “ครอบครัวอ่าวตราด” หรือ “TratBayFamily” นี้สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่เผยแพร่ข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในพื้นที่อ่าวตราด ตั้งแต่ภูผาสู่มหานที ที่เคยมีการศึกษามาแล้วในอดีต และเผยแพร่การรวมรวมข้อมูลองค์ความรู้และผลการค้นคว้าวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในพื้นที่รอบอ่าวตราดภายใต้ “โครงการจัดการองค์ความรู้ชุมชนในการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน”

สภาพภูมินิเวศน์ของอ่าวตราดและชุมชนรอบอ่าว (โดยย่อ)

        “อ่าวตราด” เป็นระบบนิเวศชายฝั่งทะเลที่มีลักษณะกึ่งปิด แต่มีทางติดต่ออย่างเป็นอิสระกับทะเลภายนอก และได้รับอิทธิพลโดยตรงจากทะเลเปิดนั้น น้ำในอ่าวบริเวณปากแม่น้ำจะมีความเค็มเจือจางลง เนื่องจากอิทธิพลของน้ำจืดที่ไหลมาจากแม่น้ำและแผ่นดินรอบๆ ระบบนิเวศปากแม่น้ำมีการเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะแวดล้อมอยู่ตลอดเวลา

         อ่าวตราดครอบคลุมพื้นที่ปกครอง 8 ตำบลของอำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด คือ ตำบลอ่าวใหญ่ ตำบลห้วงน้ำขาว ตำบลหนองคันทรง ตำบลเนินทราย ตำบลท่าพริก ตำบลตะกาง ตำบลชำราก และตำบลแหลมกลัด และอีก 3 ตำบลที่เป็นพื้นที่ข้างเคียง คืออำเภอคลองใหญ่ ประกอบด้วย ตำบลหาดเล็ก ตำบลคลองใหญ่ และตำบลไม้รูด

แผนที่แสดงตำบลต่างๆ ที่ตั้งอยู่รอบอ่าวตราด

อาชีพ สภาพเศรษฐกิจสังคม คนอ่าวตราด

อาชีพหลักของชาวบ้านที่อาศัยรอบอ่าวตราด คืออาชีพประมง ส่วนใหญ่เป็นประมงขนาดเล็ก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทะเลและชายฝั่งทำให้มีเรือประมงพาณิชย์ทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาทำการประมงในบริเวณอ่าวตราดเพิ่มขึ้น ขณะที่ชาวประมงในอ่าวตราดก็เพิ่มมากขึ้น ทรัพยากรทะเลเสื่อมโทรม อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมาอากาศ ก็ส่งผลต่อการทำการประมงชายฝั่งเช่นกัน

คุณป้า เป็นประมงเหมือนกัน กำลังเตรียมไสเคยตามชายฝั่ง บริเวณ หมู่ 2 ต.ไม้รูด พลางบ่นว่า
“เรือออกมาไสกันเยอะแบบนี้จะเหลือเคยให้แกไสไหม๊เนี่ยะ” นี่คือปัญหาของชาวประมงตัวเล็กๆ ของที่นี่ในปัจจุบัน

ช่วงกรกฏาคมของทุกปี อ่าวตราดในช่วง ต.ไม้รูด เป็นช่วงของการไสเคย และตักแมงกะพรุน (บางปีก็ไม่มี)
เรือลำนี้ด้วยเครื่องมือขนาดใหญ่ ย่อมหาได้มากกว่าชาวประมงที่คอยไสเดินไสอยู่เป็นแน่แท้
เห็นว่าบางครั้งใสได้เคยฝูงเท่ากับบ้านหลังหนึ่งเลยทีเดียว

สถานการณ์ปัจจุบัน

ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นด้านการส่งเสริมการค้าการลงทุน เน้นจับสัตว์น้ำให้ได้ปริมาณมากมากกว่าคุณภาพและขนาดของสัตว์น้ำที่เหมาะสม ทำให้สัตว์น้ำวัยอ่อนถูกจับเป็นจำนวนมาก ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของประเทศไทย ซึ่งตามแผนแม่บทอาเซียนมีเป้าหมายสร้างความมั่นคงด้านอาหารให้กับภูมิภาครวมทั้งการทำประมงด้วย ทุกประเทศในอาเซียนจำเป็นต้องพัฒนาการทำประมงให้มีความสอดคล้องกัน ทั้งจังหวัดตราดถูกประกาศเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ การเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตจะส่งผลต่อชุมชนประมง เนื่องจากการขับเคลื่อนโดยใช้เศรษฐกิจเป็นตัวนำ ทำให้ความรู้และบทเรียนของชุมชนประมงถูกกลืนหายไปกับความรีบเร่งในการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต ประกอบอาชีพเป็นลักษณะของการทำแบบวนซ้ำ แต่ขาดการวิเคราะห์สถานการณ์และปัญหาต่างๆ ทำให้องค์ความรู้ที่มีและใช้อยู่อาจไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ที่รุมเร้าเข้ามาจากหลายๆ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ชุมชนประมงชายฝั่งรอบอ่าวตราดจะต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เป็นเหมือนกับดักทางการดำเนินชีวิต จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทบทวนและถอดบทเรียนเพื่อนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ๆ เพื่อให้ชุมชนชายฝั่งได้เรียนรู้อย่างเท่าทัน ปรับตัวได้อย่างรอบคอบหลากหลาย รวมทั้งมีภูมิคุ้มกันและภูมิปัญญาเพียงพอสำหรับในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพประมงได้อย่างยั่งยืนต่อไป ภายใต้การเคลื่อนตัวไปของสถานการณ์ในปัจจุบัน

DSCF8878

เรือประมงหลากหลายขนาด เครื่องมือก็หลากหลายแบบ หากินร่วมกันในพื้นที่อ่าวตราด

         การทำงานกับชุนชนประมงชายฝั่งทำให้มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน-มพย. (Sustainable Development Foundatin – SDF) ได้เห็นถึงศักยภาพของชาวประมงผ่านกระบวนการทำงาน และได้เห็นถึงแหล่งที่มาขององค์ความรู้ของชุมชน ทั้งที่เกิดจากความรู้ที่สั่งสมจากบรรพบุรุษ และประสบการณ์จากการประกอบอาชีพ รวมทั้งความรู้ใหม่ที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกับคนภายนอกชุมชน สิ่งเหล่านี้ทำให้ชาวประมงหลายกลุ่มเริ่มที่จะปรับตัวเองและตั้งรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้มากขึ้น แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนคือ การนำเอาความรู้เหล่านั้นส่งผ่าน หรือถ่ายทอดไปสู่กลุ่มคนที่กว้างขึ้น รวมทั้งทบทวน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันเอง ทั้งในด้านการประกอบอาชีพ การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นั่นเป็นเพราะความรู้เหล่านั้นไม่ได้ถูกสกัดออกมาเป็นเรื่องราวที่สื่อสารและเผยแพร่ออกไป จึงทำให้ความรู้ยังคงจำกัดอยู่กับเฉพาะกลุ่มคน แต่อาจจะไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจริงในวงกว้าง สิ่งเหล่านี้จะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้น หากได้มีการรวบรวมและวิเคราะห์ร่วมสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งจัดเป็นชุดความรู้ต่างๆ ออกมาเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชน

สุ่มจับปูในอดีต เครื่องมือง่ายๆ จับปูที่โตได้ขนาด (ปัจจุบันไม่มีการใช้เครื่องมือนี้แล้ว)

ปู้ม้าตัวผู้และปูม้ากระเทย (ถ้ายังไม่มีไข่ เรียก ปูกระเทย มีไข่แล้วจึงเรียกว่าตัวเมีย)

       จากแนวคิดดังกล่าวข้างต้น มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงเห็นความสำคัญในการจัดการองค์ความรู้และกระบวนการจัดการเรียนรู้ โดยมีเป้าหมาย 4 ประการ คือ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) เพื่อพัฒนาคน 3) เพื่อพัฒนากลุ่มองค์กรชาวประมงพื้นบ้าน และ 4) เพื่อให้ชุมชนแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ในจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งรอบอ่าวตราด การจัดการองค์ความรู้จึงเป็นเครื่องมือให้เกิดการพัฒนาศักยภาพแกนนำประมงพื้นบ้านและวางรากฐานการเชื่อมโยงเครือข่ายชาวประมงในชุมชนรอบอ่าวตราดให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะตำบลไม้รูดและตำบลแหลมกลัด ซึ่งเป็นตำบลเป้าหมายหลักในการจัดการองค์ความรู้ให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากมีชุดความรู้ที่เป็นทุนเดิมของชุมชน มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มของชาวประมง ประกอบกับเป็นพื้นที่ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนขนาดเล็กป่าชายเลนเพื่ออนาคต (MFF SGF)

         ในการจัดการองค์ความรู้ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตระหนักว่า ไม่ได้จัดการองค์ความรู้เพื่อได้องค์ความรู้ แต่เป็นการเสริมสร้างบทบาทแต่ละชุมชน ในการทำงานจึงมีความจำเป็นที่จะมีกระบวนการพัฒนาศักยภาพในการดำเนินการสร้างความร่วมมือและเกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน จึงเป็นที่มาของการดำเนินโครงการดังกล่าว

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อรวบรวมและพัฒนาฐานข้อมูลและสื่อการเรียนรู้องค์ความรู้ในการใช้และการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
  2. เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถชุมชนชายฝั่งในการมีส่วนร่วมอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะลและชายฝั่งทั้งในพื้นที่เป้าหมายที่ได้รับการ สนับสนุนจากองค์กร Mangroves for the Future –MFF) และชุมชนรอบอ่าวตราด และวางรากฐานการเชื่อมโยงเครือข่ายชาวประมงในชุมชนรอบอ่าวตราด

เยาวชนกำลังรวบรวมองค์ความรู้จากชาวประมงรุ่นพ่อรุ่นปู่ในหมู่บ้าน

ชุมชนรอบอ่าวตราด

พื้นที่ติดอ่าวตราด

  1. ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  2. ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  3. ตำบลหนองคันทรง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  4. ตำบลเนินทราย อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  5. ตำบล ท่าพริก อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  6. ตำบลตะกาง อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  7. ตำบลชำราก อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  8. ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  9. ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
  10. ตำบลคลองใหญ่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด
  11. ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด

พื้นที่ไม่ติดอ่าวตราด

  1. ตำบลหนองเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  2. ตำบลวังกระแจะ อำเภอเมือง จังหวัดตราด
  3. ตำบลหนองโสน อำเภอเมือง จังหวัดตราด

ตำบลไม้รูด

  • ตั้งอยู่ห่างจากอำเภอคลองใหญ่ประมาณ 22 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวม 27.25 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 17,000 ไร่
  • มี 6 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 1 บ้านไม้รูด หมู่ 2 บ้านหนองม่วง หมู่ 3 บ้านห้วงโสม หมู่ 4 บ้านคลองมะนาว หมู่ 5 บ้านห้วงบอน และหมู่ 6 บ้านร่วมสุข
  • จำนวนประชากร 4,745 คน เป็นชาย 2,452 คน หญิง 2,293 คน (สำนักงานสถิติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2556.)
  • อาชีพ อาชีพหลักทำประมงชายฝั่ง รองลงมาคือเกษตรกรรม ได้แก่ ปลูกยางพารา ปาล์ม สวนผลไม้ ประเภท ทุเรียน เงาะ มังคุด เป็นต้น

ตำบลแหลมกลัด

  • ตั้งอยู่ห่างจากพื้นที่ตัวเมืองตราดเป็นระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร มีเนื้อที่รวมประมาณ 82 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 51,250 ไร่ (ข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลแหลมกลัด, 2557)
  • มี 10 หมู่บ้าน หมู่ที่ 1 บ้านปากคลองอ่าวระวะ ที่ 2 บ้านแหลมกลัด หมู่ที่ 3 บ้านสองห้อง หมู่ที่ 4 บ้านคลองประทุน หมู่ที่ 5 บ้านสะพานหิน หมู่ที่ 6 บ้านคลองสน หมู่ที่ 7 บ้านคลองพลุ หมู่ที่ 8 บ้านท่าเส้น หมู่ที่ 9 บ้านคลองม่วง หมู่ที่ 10 บ้านชายเนิน
  • ประชากรในพื้นที่ทั้งสิ้น 6,896 คน โดยแยกเป็นเพศชาย 3,486 คน และเป็นเพศหญิง 3,410 คน (สำนักงานสถิติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย, 2556.)
  • ประกอบอาชีพการประมงชายฝั่งเป็นหลัก รองลงมาคือ เกษตรกรรม โดยเฉพาะ นาข้าว ปาล์ม พืชผัก และสวนผลไม้ ประเภท ทุเรียน เงาะ มังคุด

ตำบลชำราก

  • ตั้งอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองตราดไปตาม ถ. สายตราด–คลองใหญ่ เป็นระยะทาง 23 กิโลเมตร
  • มีเนื้อที่ 75.01 ตารางกิโลเมตร หรือ 46,882.52 ไร่
  • มี 4 หมู่บ้าน หมู่ 1 บ้านหินดาด หมู่ 2 บ้านนาเกลือ หมู่ 3 บ้านหนองรี หมู่ 4 บ้านชำราก หมู่ 5 บ้านหนองยาง
  • มีประชากรทั้งสิ้น 2,575 คน เป็นชาย 1,265 คน หญิง 1,310 คน

(ข้อมูล ณ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556)

  1. องค์ความรู้ที่เคยมีการวิจัยหรือรวบรวมไว้
            เป็นการนำผลการรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัย ค้นคว้าเก่าๆ ที่แต่ละตำบล อาทิ ต.แหลมกลัด และ ต.ไม้รูด เคยทำไว้ มานำเสนอ
  2. องค์ความรู้ที่กำลังรวบรวมในปัจจุบัน
            การจัดการองค์ความรู้ในการใช้และอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง โดยพัฒนาศักยภาพแกนนำและเยาวชนในการรวบรวมองค์ความรู้ในชุมชนตนเอง เพื่อให้เกิดการทบทวน แลกเปลี่ยนความรู้และบทเรียนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง ของชุมชนรอบอ่าวตราด โดยมีชุมชนที่เข้าร่วมจัดการความรู้ทั้งหมด 7 ตำบล เป็นความร่วมมือ ระหว่าง แกนนำชุมชน กลุ่มอนุรักษ์ เครือข่ายอ่าวตราด องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนหนุนเสริมกระบวนการการจัดองค์ความรู้ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโดย กองทุนขนาดเล็กป่าชายเลนเพื่ออนาคต (MFF SGF) โดยดำเนินงาน ปี2559 และกำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวม โดยมีประเด็นที่ชุมชนได้ตกลงที่จะค้นหารวบรวมมาดังนี้1. ต.ไม้รูด วิถีชีวิตประมงชายฝั่งกับการประมงแบบยั่งยืน
    2. ต.แหลมกลัด ปลูกจิตสำนึกทำประมงแบบยั่งยืน : สุ่มปูดำฟื้นใจ
    3. ต.ชำราก การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนตำบลชำรากโดยชุมชน
    4 .ต.ตะกาง การจัดการต้นน้ำ-ปลายน้ำโดยชุมชน
    5. ต.ท่าพริก การใช้ประโยชน์และความรู้การปลูกป่าชายเลน
    6. ต.หนองคันทรง การท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์กับความมั่นคงด้านอาหาร : ป่าตะบูน-ร่องลานปืน
    7.  ต.หนองโสน บทเรียนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
Scroll to Top