กนกพรรณ สุพิทักษ์
มูลนิธิชีวิตไท
เกศินี แกว่นเจริญ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
ปกป้องชายฝั่ง ปกป้องชุมชน ปกป้องพื้นที่อาหาร
พื้นที่ตำบลจองถนน ในช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมามีลักษณะเป็นพื้นที่ชายฝั่งทะเลสาบสงขลาเป็นชายฝั่งโล่ง ๆ เมื่อเกิดคลื่น ลม หรือมีพายุ จะได้รับความเสียหายอย่างหนัก ยกเว้นบริเวณที่มีต้นไม้จะช่วยเป็นแนวกันชน และกันการกัดเซาะตามแนวตลิ่งได้ นอกจากนี้ยังพบว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดซ้ำซากและระยะเวลานานขึ้นได้ส่งผลต่อการประกอบอาชีพ วิถีชีวิตและทรัพยากรชายฝั่งในพื้นที่ ขณะเดียวกันปัญหาเดิมที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น การลดลงของชนิดพันธุ์สัตว์น้ำและปริมาณสัตว์น้ำ ปัญหาน้ำเสีย การตื้นเขินของทะเลสาบ ฯลฯ ก็ยังคงดำรงอยู่
จากภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นได้นำมาสู่การวางยุทธศาสตร์เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มศักยภาพให้กับชุมชนในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ดังนั้นทางกลุ่มจึงเริ่มจากการจัดการพื้นที่แนวชายฝั่งโดยการปลูกต้นลำพู เพราะต้นลำพูจะเป็นปราการธรรมชาติที่สำคัญในการป้องกันพื้นตลิ่งพัง กันน้ำเซาะริมตลิ่ง ช่วยชะลอการพังทลายของดิน และช่วยชะลอความแรงของกระแสลม อีกทั้งเป็นแหล่งให้สัตว์น้ำได้เข้ามาอยู่อาศัย ขณะเดียวกันในช่วงที่ชาวประมงไม่สามารถออกทำการประมงได้ก็สามารถเก็บผลผลิตจากต้นลำพูไปขายได้อีกทางหนึ่งด้วย ประกอบกับลักษณะของต้นลำพูที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลสาบสงขลา ซึ่งลักษณะน้ำในทะเลสาบฯ ค่อนข้างจืด หรือมีระยะเวลาที่ระดับความเค็มของน้ำน้อยเป็นเวลานาน ทำให้ต้นลำพูสามารถเจริญเติบโตได้ดี ที่สำคัญต้นลำพูเป็นต้นไม้พื้นถิ่นที่นอยู่ในพื้นที่ อีกทั้งแหล่งที่นำต้นกล้าลำพูมา คือ พื้นที่บ้านปากพล อำเภอบางแก้ว ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับบ้านแหลมจองถนน อำเภอเขาชัยสน จึงเป็นต้นไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่
ในการดำเนินการปลูกต้นลำพูนั้น จะแบ่งเป็นกลุ่มตามหมู่บ้าน เพื่อรับผิดชอบกันปลูกและดูแลในเขตพื้นที่หมู่บ้านของตนเอง ซึ่งจะเริ่มปลูกในช่วงหน้าแล้ง หรือเดือนมีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน ก่อนที่น้ำในทะเลสาบจะขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เมื่อต้นลำพูตายก็มีการปลูกซ่อมเสริม โดยจะปลูกตลอดแนวชายฝั่ง เพื่อเสริมในพื้นที่ว่าง โดยรูปแบบในการปลูกต้นลำพู จะปลูกแบบสองแถวสลับฟันปลาระยะห่างระหว่างแถว 3 เมตร และระยะห่างระหว่างต้นในแต่ละแถวประมาณ 3 เมตร (ภาพที่ 1) เพื่อเป็นกำแพงกั้นพายุ และเปิดช่องทางให้เหมาะสมสำหรับนำเรือเข้าไปจอดริมฝั่งได้ โดยแต่ละหย่อมบ้านจะมีบริเวณสำหรับจอดเรือของตน ซึ่งต้นลำพูยังสามารถป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับเรือที่จอดในขณะเกิดมรสุมได้อีกด้วย จากภาพประกอบที่ 1 แสดงรูปแบบการปลูกต้นลำพูในตำบลจองถนน
ในแผนการดำเนินการขั้นต่อไปของกลุ่มชาวประมง คือ การทำโรงเรือนเพาะชำต้นไม้ต่าง ๆ ที่เหมาะสมและอยู่ในท้องถิ่น สำหรับปลูกบริเวณที่ว่างบนชายฝั่งทะเลสาบฯ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และเป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชนหลังจากที่ต้นลำพูโตพอที่จะเป็นแนวกันลมให้กับต้นไม้บนฝั่งได้แล้ว รวมทั้งการสร้างแผนบูรณาการทำงานร่วมกับท้องถิ่น เช่น การขยายพื้นที่เขตอนุรักษ์เพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันตำบลจองถนนมีเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน รวมทั้งในพื้นที่เขตอภัยทานของวัดเขียนบางแก้วแล้ว หากร่วมกันวางมาตรการ เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของเขตอนุรักษ์ การปลูกต้นไม้แนวชายฝั่ง รวมทั้งการกำหนดชนิดเครื่องมือประมงในทะเลสาบ ซึ่งจะทำให้การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลสาบของหน่วยงานต่าง ๆ ได้ประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น จะทำให้ปริมาณสัตว์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบฯ กลับคืนมา
กองทุนเครื่องมือประมง : ความมั่นคงในอาชีพและหลักประกันการจัดการทรัพยากรทะเลที่ยั่งยืน
กองทุนเครื่องมือประมงเพื่อความยั่งยืน ของตำบลจองถนน มีเป้าหมายสำคัญเพื่อสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน โดยการรวมกลุ่มของชาวประมงครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการปรับตัวของชุมชน เพื่อการสร้างความตระหนักและการเรียนรู้ของชาวประมงผ่านกองทุนฯ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในการกำหนดขนาดและประเภทเครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้างสัตว์น้ำอันเป็นองค์ความรู้ที่ชาวประมงมีอยู่แล้ว ทั้งช่วงเวลาในการจับสัตว์น้ำตามฤดูกาล ทั้งเครื่องมือที่เหมาะสมกับสัตว์น้ำแต่ละชนิด ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการผลผลิต การกำหนดราคาที่ชุมชนสามารถร่วมกันกำหนดราคาที่เป็นธรรมได้ และเพื่อช่วยเหลือชาวประมงในการบรรเทาภาระหนี้สินนอกระบบจากการกู้ยืมเงินเพื่อมาซื้อเครื่องมือประมงที่ได้รับความเสียหายจากการออกทำการประมง และจากกรณีที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ประกอบกับเป็นการลดภาระหนี้สินให้กับชาวประมงเนื่องจากเครื่องมือประมงส่วนใหญ่มีต้นทุนที่สูงขึ้น
การดำเนินการของกลุ่มในการจัดตั้งคณะกรรมการนั้นมีทั้งผู้หญิงและผู้ชายเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน ซึ่งวันทำการของกลุ่ม คือ วันที่ 25 ของทุกเดือน เพื่อให้สมาชิกได้มาฝากเงินออม อย่างน้อยเดือนละ 50 บาท/บัญชี/คน และจะเปิดให้มีการแจ้งความประสงค์เพื่อยืมเงินไปซื้อเครื่องมือประมงด้วยเช่นกัน โดยจะต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการของกองทุนฯ และเมื่อได้รับเงินไปแล้วก็จะมีการติดตามการนำเงินไปใช้เพื่อซื้อเครื่องมือประมงอย่างต่อเนื่อง
จากการดำเนินการของกองทุนเครื่องมือประมงฯ ในระยะเวลามากกว่า 1 ปีที่ผ่านมา ถึงแม้เงินจากกองทุนฯ จะไม่สามารถนำไปซื้อเครื่องมือประมงให้สมาชิกได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของสมาชิกจากหนี้นอกระบบได้บ้าง ซึ่งหากมองให้มากกว่าการการรวมกลุ่มเพื่อลดภาระจากหนี้สินของชาวประมงแล้ว กองทุนฯยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มของชาวประมงพื้นบ้านในตำบลจองถนน เป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เช่น การปลูกลำพูตามแนวชายฝั่ง การศึกษาดูงานแพชุมชนที่คูขุด จังหวัดสงขลา ก็เพื่อจะนำมาพัฒนาและต่อยอดการทำงานของกลุ่มในระยะยาว หลังจากทีกองทุนฯเกิดความเข้มแข็งแล้ว
โดยแนวทางการดำเนินการของกลุ่มกองทุนเครื่องมือประมง ฯ ในอนาคต คือ การมีกฎระเบียบของชุมชนในการทำประมง มีการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ มีแนวทางในการจัดการระบบราคาและตลาดในชุมชน เช่น การมีแพชุมชนเพื่อรับซื้อปลา การกำหนดราคาโดยสมาชิกประมงร่วมมือกันกำหนดราคาขาย รวบรวมข้อมูลสัตว์น้ำ ราคาผลผลิตเพื่อให้ทราบกำลังผลิตของชุมชน มีการรวมกลุ่มแปรรูปของผู้หญิงประมงที่มีความสามารถในการแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าราคาสัตว์น้ำได้ เพราะผลผลิตในพื้นที่ทะเลสาบฯ เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากรสชาติของเนื้อปลาหวาน มัน เป็นจุดเด่นของพื้นที่ทะเลสาบ จึงเป็นโอกาสสำคัญของชาวประมง นอกจากนี้การทำงานยังต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มในชุมชนและเครือข่าย เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านอาชีพและการดำรงชีวิตอีกด้วย
ข้อเสนอชุมชนชายฝั่งกับการปรับตัวภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
บทเรียนที่จะนำมาสู่การกำหนดแนวทางหรือยุทธศาสตร์ของชุมชนชายฝั่งในการปรับตัวภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ คือ
- การสร้างความตระหนักและสนับสนุนให้ชุมชนชายฝั่งสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ต้นเองได้ รวมทั้งเข้าใจถึงปัจจัยภายนอกและภายในที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ ขณะที่หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องเข้าใจและตะหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างแผนการพัฒนาของหน่วยงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในฐานะที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาทั้งในระดับนโยบาย จังหวัดและท้องถิ่น และการจัดปรับแผนงานพัฒนาของแต่ละหน่วยงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในปัจจุบัน
- การบูรณาการเป้าหมายของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการมองประเด็นงานในลักษณะของการจัดการเชิงระบบนิเวศ คือ ต้องมองทั้งคนและระบบนิเวศที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้สภาพที่เกื้อกูลกัน และให้ความสำคัญกับการทำงานองค์รวมไม่มองแยกการพัฒนาออกจากระบบนิเวศเพราะทุกอย่างภายใต้ระบบนิเวศเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องมีการวางแผนร่วมกันทั้งการจัดการลุ่มน้ำ การจัดการผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การป้องกันภัยพิบัติ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และการพัฒนาอาชีพทางเลือกบนฐานทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นหรือจังหวัด
- การสนับสนุนให้ชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานได้เข้ามาร่วมวิเคราะห์และวางแผนการ การตั้งรับปรับตัวและการพัฒนาต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม และแผนที่ได้จะสามารถสะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงในพื้นที่ สร้างการยอมรับในเป้าหมายร่วมกันจากทุกฝ่าย