หลักประกันทางอาชีพของชุมชนชายฝั่งภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ

เกศินี แกว่นเจริญ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การตั้งรับปรับตัวของชุมชนชายฝั่ง : การสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงด้านอาหารและอาชีพ
เกาะลิบง ตั้งอยู่ในตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในอำเภอกันตัง อันประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1,4,5,7 มีเนื้อที่รวมกันทั้งหมด ประมาณ 28,295 ไร่หรือประมาณ 45.27 ตารางกิโลเมตร ด้วยเหตุที่มีลักษณะที่ตั้งเป็นเกาะ ด้วยเหตุนี้อาชีพของประชาชนบนเกาะลิบงจึงเป็นการทำประมงขนาดเล็ก คิดเป็น ร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด ขณะที่ร้อยละ 50 ประกอบอาชีพทำสวนยางพารา โดยส่วนใหญ่มีที่ดินทำสวนยางพาราเฉลี่ยคนละ 2.5 ไร่ และเป็นสวนยางพาราเก่าจึงทำให้มีรายได้จากสวนยางพาราไม่มากนัก และอีกร้อยละ 10 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป



ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของเกาะลิบง จึงทำให้พื้นที่ถูกประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  ที่สำคัญคือเกาะลิบงได้ชื่อว่าเป็นแหล่งหญ้าทะเลที่สำคัญของจังหวัดตรัง เพราะมีพื้นที่หญ้าทะเลกว่า 12,000 ไร่ ที่มีความสมบรูณ์และมีจำนวนชนิดของหญ้าทะเลมากถึง 12 ชนิด ดังนั้นพื้นที่บริเวณนี้จึงมีการพบเห็นพะยูนอยู่บ่อยครั้ง และบริเวณเกาะลิบงยังเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และที่อยู่อาศัยหากินของสัตว์น้ำในระบบนิเวศชายฝั่ง เช่น ปลิงทะเล หอยชักตีน หอยกะพง ฯลฯ

ด้วยความอุดสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำเช่นนี้ จึงทำให้เกาะลิบงกลายเป็นฐานทรัพยากรและฐานอาชีพของชุมชนชายฝั่งทั้งในและนอกตำบลเกาะลิบง ในจังหวัดตรัง รวมไปถึงจังหวัดใกล้เคียง

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทั้งบนบกและรอบๆ เกาะนี้เองจึงมีการใช้ทรัพยากรอย่างต่อเนื่องจนส่งผลให้ทั้งบนเกาะและทะเลรอบๆ เกาะลิบง เกิดความเสื่อมโทรม ไม่ว่าจะเป็นป่าบกบนเกาะลิบง หญ้าทะเล ป่าชายเลน และพื้นที่ชายหาดรอบๆ ก็มีสภาพไม่แตกต่างกัน นี้คือสถานการณ์ด้านทรัพยากรที่ชุมชนเผชิญอยู่ ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งพบว่าสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงและภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชนและฐานทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เช่นกัน  ตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความเสี่ยงด้านอาชีพที่เห็นได้ชัดเจน คือ การทำประมงชายฝั่ง หากมีฝนตกหนักติดต่อกันก็ไม่สามารถออกทะเลเพื่อจับสัตว์น้ำได้ หรือแม้สามารถออกไปได้แต่ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้จะน้อย เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่มากทำให้ความเค็มของทะเลเปลี่ยนแปลง สัตว์น้ำจะถอยออกไปไกลจากฝั่งมากขึ้น การออกเรือจะไกลขึ้นทำให้ต้นทุนด้านน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นด้วย หรือกรณีที่มีพายุและฝนตกควบคู่กันยิ่งไม่สามารถออกทะเลได้ เพราะอาจเสี่ยงที่เรือจะล่มได้ ส่วนการทำสวนยางพาราก็เช่นเดียวกัน หากฝนตกหรือมีพายุก็ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ เพราะจะทำให้น้ำยางที่ได้เสียหายเนื่องจากน้ำฝนอาจจะตกลงไปผสมกับน้ำยาง และเป็นที่มาของโรคที่เกิดบนหน้ากรีดของต้นยางในช่วงหน้าฝนหลายโรค ที่สำคัญๆ ได้แก่ โรคเส้นดำ และโรคเปลือกเน่า ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียกับผลผลิตและสวนยางได้ จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ชุมชนบนเกาะลิบงตกอยู่ในภาวะแนวโน้มที่มีความเสี่ยงในงานอาชีพและชีวิตเพิ่มขึ้น

ด้วยเหตุดังกล่าวจึงนำมาสู่การรวมกลุ่มกันของสมาชิกในเกาะลิบงเพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางและศักยภาพของตนเองได้ การรวมกลุ่มเป็นการรวบรวมกลุ่มที่มีอยู่เดิมมาทำงานร่วมกันภายใต้เป้าหมายเดียวกัน ประกอบด้วย 5 กลุ่ม คือ กลุ่มร้านค้าชุมชน กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ชีวภาพ กลุ่มผ้าบาติกและเปลือกหอยประดิษฐ์ และกลุ่มพัฒนาอาชีพสตรีแปรรูปสัตว์น้ำ เมื่อมีการพูดคุยร่วมกันใหม่อีกครั้งได้นำมาสู่การรวมตัวกันทำงานในลักษณะของเครือข่ายที่มีเป้าหมายร่วมกันคือ “การจัดการระบบนิเวศในเกาะลิบงให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติให้กลับมาเป็นฐานอาชีพและชีวิตของคนในชุมชน รวมทั้งทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันทางธรรมชาติให้กับชุมชนเกาะลิบงให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ”

กลุ่มพัฒนาสตรีแปรรูปสัตว์น้ำเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นใหม่สมาชิกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่บ้านในชุมชน เป็นเพราะการทำอาหารถือเป็นทักษะและความถนัดของผู้หญิง แต่ถึงกระนั้นงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทางกลุ่มพัฒนาสตรีแปรรูปสัตว์น้ำก็ไม่ได้ละเลยที่จะเข้าร่วมดำเนินงานอื่นๆ ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่าชายเลน การอนุรักษ์สัตว์น้ำ การทำฝายชะลอน้ำ และงานอื่นๆ ที่เป็นงานส่วนร่วมของคนในเกาะ เพียงแต่ละมีการจัดวางบทบาทการทำงานตามความรับผิดชอบหลักและรอง รวมกับสมาชิกที่เป็นผู้ชาย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นระบบและสร้างวัฒนธรรมของการทำงานร่วมกันระหว่างหญิงชายในเกาะลิบงด้วย

สำหรับกลุ่มงานอาชีพทางเลือกที่กลุ่มพัฒนาสตรีแปรรูปสัตว์น้ำจัดตั้งขึ้นนั้นมีวัตถุประสงค์คือ การสร้างความมั่นคงด้านอาหารและหารายได้เพิ่มจากอาชีพหลัก เป็นการนำเอาวัตถุต้นทางจากสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ชาวประมงในเกาะลิบงจับได้บริเวณชายฝั่งมาแปรรูป และก่อนที่จะมีการลงมือปฏิบัติงานสมาชิกได้มีโอกาสเพิ่มเติมทักษะความรู้โดยการฝึกปฏิบัติการจริงจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยต้นทางของวัตถุดิบที่จะใช้ในการผลิตนั้น ได้มาจากการจับสัตว์น้ำบริเวณชายฝั่งซึ่งสามารถจับได้ทั้งปี ทั้งการจับปลาขนาดเล็ก การออกหาหอย แต่เพื่อไม่ให้มีการจับสัตว์น้ำมากเกิดปริมาณที่จำเป็น ผนวกกับเป้าหมายสำคัญคือการสร้างความยั่งยืนและหลักประกันในการมีอาหารกินอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มได้วางแผนร่วมกันคือ จะทำการจับเฉพาะเท่าที่จำเป็นในแต่ละครั้งโดยจะจับประมาณสองเดือนหรือสามเดือนครั้ง นอกเหนือจากนั้นคือการรับซื้อจากเรือประมงในหมู่บ้านที่สามารถออกทะเลได้และต้องการขายลูกปลาเล็กปลาน้อย เมื่อได้สัตว์น้ำมาสมาชิกจะมาร่วมกันลงแรงในการจัดการผลิต สัตว์น้ำที่ได้จะนำมาแปรรูปทำเป็นอาหารว่างสำหรับทานเล่นและมีการเพิ่มคุณค่าทางด้านอาหารเข้าไปด้วยการเสริมอาหารประเภทถั่วลิสง พริก และปรุงรสกลายเป็น ปลาสามรส หอยสามรส ขณะที่เนื้อเนื้อปลาบางส่วนจะถูกนำมาแปรรูปเป็นข้าวเกรียบปลาได้อีกด้วย จากการสัมภาษณสมาชิก(1) เกี่ยวกับรายได้ที่ได้รับจากการทำอาหารแปรรูปพบว่า สมาชิกมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มต่อเดือนประมาณ 2,000 – 3,000 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเดือนไหนจะมีผลิตภัณฑ์อะไรออกมาจำหน่าย

จากการสัมภาษณ์นางย๊ะ สารสิทธิ์ อายุ 51 ปี สมาชิกกลุ่มสตรีแปรรูปสัตว์น้ำเกาะลิบง(2) ถึงเหตุผลของการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มว่าเพราะเหตุใด นางย๊ะ กล่าวว่า
 “ที่ต้องมาทำอาชีพเสริมก็เพราะว่า รายได้มันลดลง แต่ว่าในเวลาเดียวกันรายจ่ายเท่าเดิม ขณะที่บางเดือนก็เพิ่มขึ้น งานเล (ทะเล) อย่างเดียวไม่สามารถทำได้แล้ว เพราะว่าอากาศมันไม่แน่นอนนิ บางเดือนมีลม (พายุ) หลายหน บางครั้งออกเล (ทะเล) ไปอากาศดี อยู่ๆ ก็มีลม (พายุ) ขึ้นมา ต้องหันหัวเรือหลบ (กลับ) ฝั่ง การมาร่วมกันทำกลุ่มอาชีพของกลุ่มผู้หญิงที่เกาะลิบง ก็เป็นทางออกหนึ่งที่จะสามารถช่วยเหลือครอบครัวได้ อย่างน้อยก็มั่นใจได้ว่าเดือนหนึ่งเราพอจะมีรายได้ปันมาช่วยใน(ครอบ) ครัวอีกทางหนึ่ง”



อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้สิ่งที่จะต้องมีการคิดต่อยอดไปของกลุ่มพัฒนาอาชีพแปรรูปสัตว์น้ำคือ ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรทะเลเพื่อจะได้มีผลผลิตในการแปรรูปมาอย่างต่อเนื่อง และหากในช่วงเวลาที่ไม่มีวัตถุดิบนั้นทางกลุ่มจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เป็นโจทย์ที่กลุ่มกำลังตั้งร่วมกัน แต่สิ่งที่กลุ่มได้ดำเนินการแล้วอย่างต่อเนื่องคือ การวางแผนรักษาทะเลร่วมกับชมรมประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง(3)  มีกิจกรรมที่ทำกันอย่างต่อเนื่อง เช่น การทำเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ การวางปะการังเทียม การปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำ การปลูกป่าชายเลน เป็นต้น

บทเรียนที่ยังไม่ได้บทสรุป

การทำให้ชุมชนได้เกิดกระบวนการเรียนรู้และตระหนักถึงปัจจัยภายในและภายนอก รวมทั้งทำให้สมาชิกชุมชนสามารถวิเคราะห์ศักยภาพและความเปราะบางของตนเองได้ เป็นกระบวนการเริ่มต้นทำงานโดยทำให้ชุมชนได้รู้จักตนเอง เมื่อชุมชนรู้จักตนเองจะสามารถกำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์และแผนงานของตนเองได้ ทั้งการพัฒนาชุมชน การจัดการระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

สำหรับการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ของชุมชนเกาะลิบงนั้น เกิดจากกระบวนการตัดสินใจร่วมกันทั้งจากตัวแทนชุมชน ท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ จนทำให้เกิดทางเลือกที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและตรงกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ โดยเป็นการต่อยอดความคิดจากฐานงานเดิมคือ การจัดการระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งไปสู่การจัดการพื้นที่ป่า และพัฒนาสู่ความมั่นคงด้านอาชีพของคนชุมชน บนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เดิมของท้องถิ่น อาจสรุปได้ว่า การเลือกการปรับตัวรูปแบบใดนั้น สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ทางเลือกของการปรับตัวจะต้องเกิดจากกระบวนการตัดสินใจร่วมกันระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีส่วนได้เสียที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และเป็นกลุ่มคนที่มีความเปราะบางในสังคม เช่น กลุ่มเด็ก ผู้หญิง กลุ่มคนพิการ ชาวประมงพื้นบ้าน ชาวนา ชาวสวน เป็นต้น ขณะเดียวกันนักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการหรือนักพัฒนาจะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้ข้อมูลและสนับสนุนทางเลือกของการปรับตัวที่เหมาะสม ในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรท้องถิ่น จะต้องทำหน้าที่ผสมผสานทางเลือกการปรับตัวที่เหมาะสมเข้าสู่ยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาในระดับต่างๆ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติการจริงในชุมชนและสังคม

อีกประเด็นที่สำคัญคือการสร้างหลักประกันให้ “คน” ทั้งหญิงและชายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมทั้งในฐานะผู้ให้และผู้รับอย่างเท่าเทียมกันในทุกขั้นตอน ส่งเสริมสิทธิชุมชนในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและยั่งยืน เนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่จะดำรงชีวิตภายใต้สภาวะที่ไม่แน่นอนของสภาพอากาศและสภาพแวดล้อมทางด้านสังคมอื่นๆ เพราะเมื่อวิเคราะห์ให้ลึกถึงรากเหง้าของความเปราะบางพบว่า ผู้หญิงจะเป็นกลุ่มแรกที่ต้องรับภาระเพิ่มขึ้น หากต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสภาพอากาศ สถานการณ์เช่นนี้สะท้อนให้เห็นว่าชุมชนชายฝั่งโดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงนอกจากจะเป็นกลุ่มคนที่เปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศแล้ว กลุ่มผู้หญิงประมงจะยิ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าผู้ชาย


(1) 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 ณ. ที่ทำการกลุ่มร้านค้าหมู่บ้าน
(2) สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556
(3) ชมรมชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เป็นการร่วมตัวกันของชาวประมงพื้นบ้านในการจังหวัดตรังเพื่อทำงานติดตามและรณรงค์ด้านนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการทำกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับชุมชนที่เป็นสมาชิกของชมรม

Scroll to Top