ตั้งรับปรับใจ

จากการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อพูดคุยกับชาวบ้านถึงสถานการณ์ปัญหาในพื้นที่บ้านจองถนน ตำบจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพของชุมชนชายฝั่งเพื่อการปรับตัวและลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อระหว่างวันที่ 14 -15 กันยายน พ.ศ.  2554 ทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน และรับฟังเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสภาพอากาศ อาชีพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นของบ้านจองถนนว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับอดีตในระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการได้รับฟังป้าฉู่และลุงเต็กเล่าเรื่องราวในอดีตเกี่ยวกับการประกอบอาชีพของตนเองให้เราได้ฟัง

ป้าฉู่ ทะระเกิด อายุ 66 ปี และลุงเต็ก ทะระเกิด อายุ 59 ปี แต่งงานอยู่กินกันมากว่า 30 ปี ที่บ้านจองถนน เดิมทีลุงเต็กเป็นคนบ้านจงเก แต่เมื่อแต่งงานจึงโยกย้ายมาอยู่ร่วมบ้านกับป้าฉู่ที่บ้านจองถนน ลุงและป้ามีอาชีพดั้งเดิมคือทำนาและประมงพื้นบ้านในทะเลสาบ ตอลดระยะเวลาของการอยู่อาศัยในตำบลจองถนน จังหวัดพัทลุง ป้าและลุงบอกว่าพบเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพื้นที่มากมาย

ป้าฉู่ เล่าให้ฟังว่า “ป้าเป็นคนที่นี้ เกิดที่นี้ ที่บ้านทำประมงมาตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านอยู่ติดกับเลสาบ (ทะเลสาบสงขลา) ถ้าว่างจากการทำประมงก็รับจ้างทำอะไรไปเรื่อยๆ พอแต่งงานกับลุงก็กลับมาทำประมงออกเรือไปกับลุงไปหาปลาด้วยกัน ในเลสาบ เมื่อก่อนตอนเด็กๆ ป้าจำได้ว่าออกเรือไปแค่ลิ่ง (ตลิ่ง) ก็หาปลาได้เยอะ กินไม่หมด เบื่อต้องเอาไปทำแห้ง ตอนนี้หว่างอี้ได้สักสักสองสามโลต้องออกไปตั้งไกล เดี๋ยวนี้คนกลับมาทำประมงกันเยอะ เหมือนจะเกือบทุกบ้าน เพราะว่ามันไม่รู้อีทำมาหากินอะไร แต่ว่าถ้าเทียบกับเมื่อก่อนแล้วตอนนี้ปลามันพันธุ์น้อยลงกว่าแต่ก่อนเยอะ ปลาที่ป้าเห็นตอนเด็กๆ เช่น ปลาหลุมพุก ปลาแยง เดียวนี้ไม่มีแล้ว ที่ยังเห็นก็ ปลาหัวโมง และก็กุ้ง  พอคนเยอะเราก็ไม่อยากอีแย่งกับเพื่อน ลุงกับป้าเลยหยุดไม่ได้ทำต่อ หยุดมาได้สักสองปีแล้ว เรือก็ขายหมด อีกอย่างป้าก็ไม่ค่อยบาย (สบาย) เป็นความดัน หน้ามืดบ่อย กลัวว่าออกไปเลแล้วจะไม่สบาย ตอนนี้เลยรับจ้างเอาพุงปลาออกอย่างเดียว วันหนึ่งก็ได้พอมีพอกินไม่ได้ลำบากไร  

ลุงเต็ก เพิ่มเติมว่า “ก่อนย้ายมาอยู่กับป้าที่บ้านนี้ ลุงก็ทำงาน ”สมเลสมบก” คือว่าทำทั้งนาทั้งประมง ลุงไม่ได้เป็นคนหมู่ห้า แต่ว่าเป็นคนอยู่หมู่สาม บ้านจงเก หมู่บ้านติดๆ กันนิ ไม่ไกลกัน ที่หมู่สามเขาทำนากันเยอะเพราะว่าเป็นพื้นที่ลุ่ม ทำนาได้ดี แต่ก่อนก็จะปลูกข้าวหลายพันธุ์ทั้งพันธุ์ เล็บนก ช่อปีขาว ช่อปีดำ ตอนนี้ส่วนใหญ่เหลือแต่เล็บนกแล้ว เมื่อก่อนเราจะเริ่มปลูกข้าวกันเดือนแปด (เดือนมิถุนายน หรือ พฤษภาคม) พอเดือนสี่ (เดือนกุมภาพันธ์ หรือ เดือนมีนาคม) ก็เก็บได้แล้ว แต่ก่อนทำนาอาศัยน้ำฝน เพราะฝนมันตกต้องตามฤดูกาล เราดูลม ดูฟ้า ดูทิศทางก็บอกได้แล้ว แต่เดียวนี้เดาไม่ได้แล้ว ตอนที่ย้ายมาอยู่กับป้าหลังแต่งงานลุงกับป้ายังทำนาอันอยู่เลยน่ะ แต่ว่าตอนนี้หยุดไม่ได้ไปทำแล้วหยุดมาได้สักห้าปี ทำไม่ไหว น้ำท่วมบ่อย ข้าวเปลือยหมด ทำไปก็ขาดทุน ว่าอีทำแต่กพอกินกัน ก็ไม่พอกิน ช่วงหลังๆ น้ำท่วมนาบ่อย เมื่อก่อนท่วมขังสักสองสามวันน้ำก็ไหลออกหมด แต่ตอนนี้ท่วมนานท่วมบางที่เป็นครึ่งเดือน หว่างอีไหลลงเล”

ป้าฉู่เล่าต่อจากลุงเต็กว่า “น้ำที่ไหลมาท่วมที่นานั้นเป็นน้ำเหนือ (น้ำจากเทือกเขาบรรทัด) เดิมที่เราจะรู้ว่าน้ำจะท่วมเดือนตุลา (ตุลาคม) หรือไม่ก็พฤจิกา (พฤศิจกายน) ช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำมาก เหมือนก่อนบ้านที่ป้าอยู่ก็น้ำท่วมนะ แต่ว่าท่วมสักสองสามวันก็หมดเพราะน้ำมันไหลลงเล (ทะเลสาบ) แต่ว่าเดี๋ยวนี้นาน น้ำท่วมมากขึ้น พอฝนตกหนัก น้ำเหนือก็มา น้ำทะเลก็หนุน น้ำมันไม่รู้อี(จะ)ออกไปทางไหน จะไหลลงเลก็ไม่ได้เพราะว่า น้ำสูงเหมือนกัน  น้ำมันก็เลยขังอยู่แบบนั้นละ ยิ่งปีที่แล้ว (พ.ศ. 2553) และปีนี้ ( พ.ศ. 2554) น้ำเยอะนิ ฝนตกไม่พอ มีพายุ มีลมหมุนเกิดในเลสาบกัน ยิ่งทำให้บ้านเราน้ำท่วมนานเข้าไปอีก”

จากการพูดคุยกับป้าฉู่ และลุงเต็ก เพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม ทำให้เราพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นว่าปัญหาส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากการทำถนนที่กรมทางหลวงชนบททำสูงขึ้นปีละ 5-10 เซนติเมตรเกือบทุกปี ลุงเต็กเล่าว่าเดิมที่ถนนหน้าบ้านที่เห็นนั้นเป็นแค่ถนนดินแดง ต่อมากรมทางหลวงชนบทได้เข้ามาทำถนนลาดยางให้ และมีการเข้ามาตรวจสอบทุกปี ถ้าปีไหนเห็นว่าน้ำท่วมถนน ก็จะเข้ามาซ่อมแซมถมถนนให้สูงขึ้น ตอนนี้ ถนนหน้าบ้านก็สูงขึ้นกว่าตัวบ้าน ทำให้เป็นตัวกักน้ำเหนือที่ไหลมาได้ดี บริเวณบ้านป้าฉู่และลุงเต็กอยู่อีกฝั่งของถนน ทำให้น้ำไหลมาท่วมได้ยาก แต่หากปีไหนฝนตกหนักติดต่อกันแล้วมีน้ำจากทะเลสาบหนุนเข้ามาด้วยแล้วก็จะทำให้น้ำท่วมบ้านได้ แต่สำหรับที่นาลุงเต็กที่อยู่หมู่สามน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำเหนือพอดี จึงต้องเจอกับน้ำเหนือจากภูเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บ่ายของวันถัดมาเราได้มีโอกาสพูดคุยกับป้ากรอบ แก้วเมฆ อายุ 62 ปี ที่บ้านอาพัด หมู่สี่ ตำบลจองถนน ป้ากรอบทำนาและทำประมงอยู่ในทะเลสาบ เช่นเดียวกับคนส่วนใหญ่ในหมู่บ้าน สิ่งที่เราได้พบเห็นคือบ้านของป้ากรอบที่อยู่ติดกับถนน อยู่ต่ำกว่าถนนประมาณหนึ่งเมตร ป้ากรอบได้เล่าให้เราฟังว่า “เดิมถนนไม่ได้สูงกว่าบ้านเหมือนที่เห็นตอนนี้ แต่เพราะน้ำท่วมบ่อยและถี่ขึ้นทำให้กรมทางหลวงมาซ่อมแซมถนนบ่อย เวลาซ่อมก็จะมีแต่ถมถนนให้สูงขึ้น แต่เราก็ไม่แน่ใจว่าเขาได้วางท่อใต้ถนนไปด้วยเหรือเปล่า เพราะทุกครั้งที่น้ำท่วม น้ำจะขังอยู่ในบ้านนานขึ้น โดยเฉพาะช่วงปีหลังๆ ประมาณ 7-8 ปีที่ผ่านมา น้ำท่วมขังบ่อยขึ้นนานขึ้น  ยิ่งช่วงนี้ฝนตกหนักบ่อยขึ้น และก็ตกไม่เป็นฤดูกาล ทำให้เราต้องเจอกับปัญหานี้ซ้ำซาก สิ่งที่เราทำได้คือการเตรียมความพร้อมภายในบ้าน เตรียมเรือ เตรียมยกของให้สูงขึ้น โดยเฉพาะที่บ้านเราอยู่กันสองคน (ป้ากรอบและสามี) เวลาน้ำมาจากด้านเหนือ (เทือกเขาบรรทัด) จะได้ไม่เสียหายมาก”

สิ่งที่เราได้ค้นพบในพื้นที่และจะต้องให้ความสำคัญคือ การกลับมาทบทวนว่าการตั้งรับปรับตัวของชุมชนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นนอกจากจะต้องพิจารณาถึงสภาพอากาศที่กำลังแปรปรวนไปจากรูปแบบเดิมๆ แล้ว การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะต้องนำมาพิจารณา ก่อนที่เราจะก้าวไปสู่การกำหนดแผนตั้งรับปรับตัวร่วมกับชุมชนต่อไปในอนาคต

โครงการเพิ่มศักยภาพของชุมชนชายฝั่งเพื่อการปรับตัวและลดความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดำเนินการโดย สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยความร่วมมือจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้การสนับสนุนของ Special Climate Change Fund (SCCF) กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) วัตถุประสงค์ของโครงการคือ พัฒนากลไกเพื่อช่วยให้ชุมชนได้มีทางเลือกที่จะช่วยลด และรับมือภัยจากสภาพภูมิอากาศ และจัดทำข้อเสนอในการปรับตัวรับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้นอย่าง เป็นรูปธรรม

Scroll to Top