วิถีชีวิตประมงพื้นบ้าน

เล่าเรื่องโดย
ฐิตารี

ชายวัยกลางคนลูกน้ำเค็มโดยกำเนิด รูปร่างล่ำสัน  ผิวคล้ำแดดจากการทำประมงมานานหลายปี  สวมเสื้อสีขาวตุ่นๆที่มองแล้วก็รู้ได้เลยว่าผ่านการใช้งานมายาวนานกับกางเกงขายาวสีน้ำเงินซีดๆที่ไม่ได้แตกต่างอะไรกับเสื้อที่สวมอยู่เลย  มือใหญ่หยาบกำลังสาละวนกับการปลดปูออกจากอวน ตัวแล้วตัวเล่า  อยู่หน้าบ้านที่กำลังยกบ้านใหม่ ที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงในการประกอบอาชีพประมงอวนปู

“ดุ่ย” เป็นชื่อของเขา ที่ทุกคนในหมู่บ้านเรียกขาน   ชายอารมณ์ดีคนนี้ได้แนะนำให้รู้จักกับ  “น้อย”  ซึ่งเป็นภรรยาของเขา หญิงสาวหน้าตาหมดจด จากแดนอีสานที่มาทำงานที่หมู่บ้านนี้ตั้งแต่สมัยวัยละอ่อน  โดยเริ่มจากการรับตากปลาให้กับชาวประมงในหมู่บ้าน  ทั้งสองได้พบรักกัน และตกลงปลงใจที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน  

พี่ดุ่ยเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆนั้นปู ปลามันหาง่าย ออกเรือไปเดี๋ยวเดียวก็ได้มาเต็มลำ  ปลามันเยอะบ้างก็ต้องแปรรูปโดยนำมาตากแห้ง ก็มีพี่น้อยนี่แหละที่เป็นหนึ่งในคนที่รับจ้างตากปลา ตัวพี่เองก็ออกเรือกับครอบครัวไม่ได้แยกออกมาทำเองแบบเดี๋ยวนี้หรอก   เพิ่งจะแยกออกมาทำเองได้ยี่สิบกว่าปีมานี้เอง พูดถึงการวางอวนปู เมื่อก่อนออกไปวางตอนเช้ามืด สายๆก็ไปสาวอวน วางไม่กี่ชั่วโมงก็ได้แล้ว ไม่เหมือนกับเดี๋ยวนี้ ต้องวางกันข้ามวันข้ามคืน นี่เดี๋ยวซัก 3-4โมงเย็น พี่ก็ออกเรือไปวางอวน เช้าๆซักตีห้าก็ค่อยออกไปเก็บอวน “ไปดูมั๊ยล่ะ”  พี่ดุ่ยเอ่ยชวน ระหว่างที่นั่งดูพี่ดุ่ยกับพี่น้อยปลดปู ฉันก็ลองปลดกับเค้าดูบ้าง แหม…ก็ดูว่ามันง่ายออกขนาดนั้น เริ่มจากปูตัวเล็กๆเพียงตัวเดียว ก็ใช้เวลาร่วมๆยี่สิบนาที แถมยังโดนปูหนีบ เห็นตัวเล็กๆแต่มันเจ็บจี๊ดจนแทบอยากจะขว้างอวนทิ้ง ทั้งคู่หันมามองแล้วก็หัวเราะชอบใจ

อวนที่สาวขึ้นมานั้นไม่เพียงมีแต่ปูม้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปลาชนิดต่างๆ  หอยแมลงภู่ที่หลุดจากหลัก หอยหนาม ปูแมงมุม ปูหิน ปูดำตัวใหญ่ที่ฉันแอบมองแล้วคิดในใจว่าถ้าโดนตัวนี้หนีบนิ้วแล้วล่ะก็มีหวังนิ้วขาดแน่ๆ พี่ดุ่ยหยิบปูดำคู่หนึ่งชูให้ดูพร้อมกับบอกว่า “ปูดำที่เป็นนี่เป็นผัว-เมียกัน ตัวใหญ่ๆเป็นตัวผู้ ตัวที่เล็กกว่าเป็นตัวเมีย มันกำลังจะผสมพันธุ์กัน ต้องรีบแกะออกจากกัน ถ้าปล่อยไว้นานมันอาจจะรัดตัวเมียตายได้ ถ้าเปรียบเทียบกับคนก็คงเป็นพวกมีเมียเด็ก” แล้วแกก็หัวเราะชอบใจ หลังจากที่ปลดปูออกจากอวนเสร็จ พี่น้อยก็นำปูม้าไปล้างและต้ม เพื่อนำไปแกะเนื้อขาย ส่วนปูดำขายเป็นปูสด ให้กับเถ้าแก่รับซื้อที่อยู่ในหมู่บ้าน หอยหนามที่ปลดออกจากอวนก็ยังขายได้โดยมีคนมารับซื้อถึงที่บ้าน ปลาที่ได้ก็นำไปเป็นอาหารหรือนำไปทำปลาเค็มเก็บไว้กินในครัวเรือน

ราวบ่ายแก่ๆ ลมเริ่มจัด เหมือนฝนจะตก พี่ดุ่ยก็รีบเตรียมตัวออกไปวางอวนปู แกมีอวนทั้งหมดสิบกอง กองละห้าหัว ฉันไม่รอช้ารีบลงเรือตามแกไปด้วย เพื่อไปดูวิธีการวางอวนปู แกขับเรือออกไปทางปากคลอง ชี้ชวนให้ดูเขตอนุรักษ์ ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดทำแนวเขตขึ้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของลูกปู “ราวๆปี 49 (2549) เห็นจะได้ พวกที่ทำอวนปูนี่แหละ เริ่มทำการอนุรักษ์ปูม้าและเขตอนุรักษ์ไว้ให้ปูมันออกลูกออกหลาน ทำได้ประมาณสองปีกว่าๆ กำลังใจมันเริ่มหมด เพื่อนๆก็เริ่มท้อ จนในที่สุดก็ไม่มีใครทำ หลังจากนั้นมา น่าจะช่วงปี 53 นะ หมู่บ้านข้างๆก็เริ่มทำการเพาะเลี้ยงปูม้า หรือที่เรียกกันว่าธนาคารปูม้า พวกที่เคยๆทำ ก็เริ่มกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง พี่ก็มาคิดดูว่า ถ้าเค้าทำ เราทำ คนอื่นๆทำ มันก็น่าจะทำให้ปูปลามันอุดมสมบูรณ์ขึ้น หมู่บ้านที่ติดๆกันก็ทำธนาคารปูม้าเหมือนกันนี่แหละ ครั้งนี้ทำอย่างจริงจังกว่าเดิม มีการตั้งกลุ่ม มีประธานกลุ่มอย่างเป็นทางการ ก็บ้านที่ตรงข้ามกับบ้านพี่นั่นล่ะ บ้านประธานเค้า เวลาได้แม่ปูม้าที่มีไข่นอกกระดองมา ก็เอาให้เค้า ที่นั่นเค้าจะมีถังใส่แม่ปู ให้ออกซิเจน จนกว่าแม่ปูจะเขี่ยไข่ เมื่อเขี่ยไข่แล้ว ก็นำลูกปูไปปล่อยลงทะเลอีกที ทุกเดือนๆก็จะมีการประชุมปรึกษาหารือกันในกลุ่ม หาทางช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งร่วมกันวางแผนทำกิจกรรมต่อไป เช่นการทำแนวเขตอนุรักษ์ ก็ต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ ก็จะมีกรมประมง กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง อบต. หน่วยงานเหล่านี้เค้าจะสนับสนุนเป็นของมาจะไม่ให้เป็นเงินนะ พวกทุ่นที่ไปกั้นเขตก็ได้จากหน่วยงานรัฐนั่นแหละ บางทีก็มาจัดอบรมให้ความรู้ พวกเราก็ค่อยๆทำกันไป ซักวันมันก็ต้องเห็นผล” แกเล่า

ขณะนั้นลมแรงขึ้น คลื่นซัดเข้าหาเรือเป็นระยะ เรือโคลงไปโคลงมา ใจฉันมันก็เริ่มเต้นแรงขึ้นตามแรงเรือ คอยแอบลุ้นตลอดว่าตัวเองจะกลิ้งหล่นน้ำไปหรือเปล่า ท้องฟ้าก็เริ่มเปลี่ยนสีเป็นที่เทาจางๆ พี่ดุ่ยขับเรือออกไปซักพักก็เริ่มเบาเครื่อง พร้อมทั้งยกอวนมาทางท้ายเรือ เอาเชือกที่ปลายอวนข้างหนึ่งผูกกับสมอแล้วโยนลงทะเล แล้วค่อยๆปล่อยอวนลงไปในขณะที่เดินเรือเร็วขึ้นกว่าเดิมนิดหน่อย ส่วนปลายอีกข้างจะผูกไว้กับทุ่นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ตอนมาสาวอวน  “วันนี้ลมจัด สงสัยจะมีพายุ ปูคงจะชุก” แกเปรยขึ้นมาเบาๆ   วิธีการวางอวนของแกจะวางยาวต่อกันโดยขนานกับชายฝั่ง แกเล่าว่าช่วงนี้ไม่ใช่หน้าปูม้าต้องวางแบบนี้แหละ ค่อยเสี่ยงดวงเอาว่าจะได้หรือไม่ได้ แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าปูม้า (เดือนตุลาคม-มีนาคม) จะวางซ้อนๆกันในแหล่งที่มีปูม้าชุกๆ ไม่ต้องวางยาวเหมือนตอนนี้ “บางวันออกเรือมาสาวอวนก็ไม่ได้อะไรเลยก็มีนะ ถ้าวันไหนโชคดีก็ได้หลายพันเลย เหมือนกับเสี่ยงนั่นแหละ” แกว่าพร้อมกับผูกทุ่นอันสุดท้ายก่อนที่จะปล่อยลงทะเลและขับเรือกลับบ้าน

นับเป็นโชคดีของฉันที่ได้กลับเข้าฝั่งเร็ว เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ ลมพัดวูบวาบ ทำเอาหลังคาสังกะสีของบางบ้านปลิวว่อน ฉันได้แต่นั่งมองสายฝนแล้วนึกภาพย้อนอดีตที่ชุมชนแห่งนี้ยังอุดมสมบูรณ์ มันคงจะงดงามน่าดู  “มากินข้าวเร็ว มีปูสดๆให้ชิม ปูที่นี่อร่อยนะ เนื้อแน่น ทั้งสดทั้งหวาน” เสียงเจ้าของบ้านเชิญชวนพร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณของปูที่นี่เสร็จสรรพ ในเมื่อมาถึงที่ถึงถิ่นก็ต้องได้ลิ้มรส จะได้นำกลับไปเล่าให้คนอื่นๆฟังได้ถูกว่าปูที่นี่อร่อยแค่ไหน โดยส่วนตัวแล้วจะไม่ค่อยกินปูเท่าไหร่ แต่วันนี้ไม่รู้ว่าหิวหรือว่าปูอร่อยสมกับคำเชิญชวน ก็จัดการราบเรียบไปเสียหลายตัว ก็แหม..ได้กินปูที่นี่แล้วทำให้ไม่อยากไปกินปูตามร้านอาหารในเมืองเลย พอหนังท้องตึง หนังตาก็เริ่มหย่อน เจ้าของบ้านก็เหมือนจะรู้ใจ จึงแยกย้ายกันไปพักผ่อนเก็บแรงไว้ออกเรือในวันรุ่งขึ้น

ราวๆตีห้ากว่าๆก็ได้ยินเสียงเรือติดเครื่อง ค่อยๆทยอยออกจากหมู่บ้านทีละลำ…ทีละลำ ตัวฉันเองก็รีบจัดการกับตัวเองอย่างเร่งด่วน ก็เมื่อคืนนัดกับพี่ดุ่ยไว้ดิบดีว่าจะขอตามไปสาวอวนด้วย เกิดชักช้าพี่เค้าออกเรือไปก่อนก็อดไปกันพอดี หลักจากที่ล้างหน้าล้างตาเรียบร้อยแล้วก็รีบกระโดดลงเรือตามไปทันที

ฟ้าเริ่มสาง แต่บรรยากาศยังดูขะหมุกขะมัว ไม่ค่อยแจ่มใส คลื่นลมแรงกว่าเมื่อวานเล็กน้อย พี่น้อยในชุดเตรียมพร้อมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมหมวกคลุมหน้าเหลือแต่ลูกตาในมือมีตะกร้าหนึ่งใบ ถังอีกหนึ่งใบ ส่วนพี่ดุ่ยอยู่ในชุดพร้อมลุยเช่นเดียวกัน ต่างกันเพียงแต่หมวกที่สวมอยู่เท่านั้น หมวกพี่ดุ่ยเป็นหมวกที่สานจากใบจาก พี่ดุ่ยขับเรือไปยังทุ่นที่ลอยไว้เป็นสัญลักษณ์ไว้ทันที เมื่อถึงที่หมายพี่น้อยจะเป็นคนมาบังคับเรือ พี่ดุ่ยเป็นคนไปสาวอวน ค่อยๆสาวขึ้นมาทีละกอง โดยจะวางเนื้ออวนส่วนที่ไม่ติดอะไรเลยไว้ตรงกลาง มีตาข่ายปูรองก้นไว้ แยกปู ปลา ที่กินได้ ขายได้ไว้รอบๆ ปลาตัวเล็กตัวน้อยก็ปลดออกจากอวนแล้วโยนลงทะเลไป เมื่อสาวเสร็จก็ตลบปู ปลาที่อยู่รอบๆไว้ด้านบน จับตาข่ายที่รองก้นผูกมุมทั้งสองข้าง ทำเช่นนี้เรื่อยๆจนครบสิบกอง “วันนี้พอได้” พี่ดุ่ยพูดขึ้น  แม้ปูม้าจะได้น้อยกว่าที่ฉันคิดไว้ แต่ก็ยังมีปูดำที่พอจะช่วยถูไถให้พอมีรายได้บ้าง

ระหว่างที่พี่ดุ่ยขับเรือกลับนั้น พี่น้อยก็ไม่รอช้านั่งปลดปูจากอวนบนเรือ เร่งทำงานแข่งกับเวลาที่มันผ่านไป กว่าจะถึงบ้านก็ปลดปูได้เป็นกองเหมือนกัน พี่น้อยปลดปูไปพร้อมๆกับเล่าให้ฉันฟังว่า “ช่วงนี้ปูม้ามันน้อย ก็จะได้ปูดำเยอะหน่อย ถ้าเป็นเมื่อก่อนสาวอวนขึ้นมา จะมีแต่ปูเต็มอวนไปหมด เดี๋ยวนี้ของมันหายากขึ้นทุกวัน คนหันมาทำอวนปูกันก็เยอะ เพราะลงทุนไม่สูง คนเดียวก็ออกเรือได้ ไม่ต้องจ้างลูกน้องให้วุ่นวาย รายได้ก็พอเลี้ยงครอบครัวได้ แต่ทำอวนปูก็ใช่ว่าจะสบาย ราคาอวนกองหนึ่งรวมทุ่นรวมตะกั่ว ก็ราวๆห้าหกพันบาทแล้ว อวนชุดหนึ่งใช้ได้ราวๆ สี่-ห้าเดือนก็ต้องซื้อใหม่ ก็อย่างที่เห็นนี่แหละขาดก็เพราะปูบ้าง บางทีถ้าโชคร้ายโดนเรือลุนเข้ามาก็ต้องซื้อใหม่เลย เพราะถ้าไม่ขาดหมดก็หายไปเลยนั่นแหละ”  
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาตินับวันยิ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพมากขึ้น แต่ในด้านหนึ่งเป็นเสมือนปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้ชาวประมงพื้นบ้านกลุ่มนี้สนใจเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรในทะเลมากขึ้น ประกอบด้วยเหตุผลพื้นฐานเข้าใจง่ายๆ ว่าเพื่อให้มีกินมีใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน ซึ่งที่บ้านปากคลองอ่าวระวะ ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง จังหวัดตราด แห่งนี้จะเป็นที่ที่ฉันได้ร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เพื่อนำไปถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ

Scroll to Top