ป่ายาง : ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

วราภรณ์ เกตจินดา
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ทำไมคนตะโหมดต้องปลูกป่าในสวนยาง

ชุมชนตะโหมดอยู่บริเวณต้นน้ำของลุ่มน้ำท่าเชียด รอบๆ ชุมชนถูกโอบด้วยภูเขาสูง มีเขาหัวช้างอยู่ค่อนไปทางเหนือและมีเทือกเขาบรรทัดทอดตัวยาวอยู่ทางด้านทิศตะวันตก จะเว้นก็แต่ด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ราบ ที่ค่อยๆ ลาดต่ำไปยังชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ทางด้านท้ายน้ำ  ในช่วงเวลาที่ฝนตก พื้นที่ของชุมชนจึงกลายเป็นที่รับน้ำที่หลากจากเขาแล้วค่อยๆ ไหลต่อไปยังชุมชนอื่นๆ ถัดไปเรื่อยๆ ก่อนที่จะไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา

ตะโหมดเป็นชุมชนชาวใต้ที่ทำสวนยางเป็นอาชีพหลัก วิถีการทำเกษตรของคนตะโหมดก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากโดยเฉพาะการทำสวนยาง จากเดิมปลูกยางในป่ากลายเป็นการทำสวนยางพาราเชิงเดี่ยวมากขึ้น  ป่ายางตามธรรมชาติก็กลายเป็นสวนยางที่ไม่มีพืชอื่นในสวนยางเลย วิธีการเปลี่ยนจากการเพาะเมล็ดยางแล้วนำไปปลูกแซมในป่า เป็นการตัดต้นไม้ในป่าออกแล้วนำกิ่งพันธุ์ยางไปปลูกเป็นแถวในพื้นที่ป่าที่ถางไว้ ตามระยะห่างที่สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) กำหนดไว้คือระยะปลูก 3×7 เมตร หรือ 2.5×8 หรือ 2.5×7 เมตร

เมื่อป่าต้นน้ำเริ่มเปลี่ยนแปลงหน้าตา จากป่าทึบกลายเป็นสวนยางพารา อะไรหลายๆ อย่างก็เปลี่ยนตาม ไม่เพียงแต่ความอุดมสมบูรณ์และการอุ้มน้ำของดินลดน้อยลง แต่ยังทำให้ปริมาณและการไหลของน้ำไม่สม่ำเสมอ น้ำในลำห้วย ลำธาร ขาดแคลนในฤดูแล้ง และมีน้ำมากเกินไปในฤดูฝนแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำให้น้ำในลำห้วย ลำธารขุ่นข้น เป็นตะกอน มีการปนเปื้อนจากสารเคมี ปุ๋ย และยาปราบศัตรูพืชและแมลงจากการเกษตร  นอกจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ส่งผลให้สภาพผืนดินและสายน้ำในตะโหมดเปลี่ยนแปลงแล้ว สภาพภูมิอากาศที่ปลี่ยนแปลงไป ทั้งฤดูแล้งที่ยาวนานกว่าปกติทำให้ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร ฤดูฝนกลับมีฝนตกหนักและนานทำให้กระแสน้ำในลำห้วยคลอง มีการไหลที่รุนแรงขึ้น หนำซ้ำการปลูกสร้างบ้านเรือนในชุมชนและการสร้างสาธารณูโภคต่างในชุมชนเช่น ถนน ท่อระบายน้ำ ยังส่งผลทำให้เส้นทางน้ำเปลี่ยน พื้นที่รับน้ำถูกปิดกั้นหรือตื้นเขิน ดังนั้นเมื่อกระแสน้ำไหลผ่านมายังชุมชนจึงก่อให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงกับบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ

เดิมทีชุมชนตะโหมดก็ต้องเผชิญกับน้ำท่วมหลากจากภูเขาอยู่เป็นปกติอยู่แล้ว เพราะชุมชนอยู่บริเวณเชิงเขา  เพียงแต่ไม่ได้เป็นปัญหาหรือสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชนมากนัก น้ำที่หลากจากเขาไม่ได้รุนแรงหรือมีปริมาณมากจนสร้างความเดือดร้อน เพราะฝนที่ตกก็ไม่มีปริมาณน้ำมาก อีกทั้งผืนป่าขณะนั้นมียังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่จึงช่วยซับน้ำลงสู่ใต้ดินได้ดี และชาวบ้านมีความรู้โดยธรรมชาติว่าถ้าฝนตกปริมาณเท่าไหร่ถึงจะทำให้เกิดน้ำท่วมหมู่บ้าน และทราบดีว่าหลังจากฝนตกหนักกี่วันน้ำถึงจะหลากมาถึงหมู่บ้าน แต่ในช่วง 5 ปี (2551-2556) ที่ผ่านมา ชุมชนตะโหมดต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและภัยธรรมชาติที่เพิ่มความรุนแรงและมีความถี่มากขึ้นทุกปี จนทำให้ช่วงที่น้ำหลากจากเขาเข้าท่วมหมู่บ้านกลายเป็นปัญหารุนแรง เพราะกระแสน้ำมีความรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งยังนำเอาตะกอนดินลงมาด้วย ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมและบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ระยะเวลาน้ำหลากท่วมชุมชนก็เกิดเร็วขึ้นมาก ทำให้การเตรียมพร้อมรับมือกับน้ำท่วมต้องเร่งรีบและทำได้ยากขึ้น

ปลูกป่าในสวนยาง

เมื่อคิดจะเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อรักษาสมดุลธรรมชาติ แต่จะไปปลูกต้นไม้ในป่าก็ทำได้ยาก การนำเอาต้นไม้ไปปลูกในสวนยางพาราเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า หรือแนวคิดการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางพาราให้เป็นป่ายาง จึงได้ถูกยกขึ้นมาพูดคุยกันในกลุ่มสภาลานวัดตะโหมด  เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน และแต่ละคนก็สามารถทำในส่วนของตัวเองได้อย่างไม่ยุ่งยาก เพราะการทำสวนยางพาราแบบป่ายางก็เป็นวิถีการทำสวนยางของชาวตะโหมดนับตั้งแต่ในอดีตอยู่แล้ว และยังได้เห็นตัวอย่างจากสวนยางของลุงฑูรย์(1) ที่ทำสวนยางเลียนแบบธรรมชาติ จนสวนยางมีสภาพเหมือนป่า แต่น้ำยางยังออกเหมือนสวนยางที่โล่งเตียน และยังให้น้ำยางอยู่แม้ว่าต้นยางจะมีอายุมากแล้วก็ตาม

ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่กลุ่มเริ่มสนับสนุนการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางก็เป็นเวลา 4 ปีแล้ว แม้ว่าพืชส่วนใหญ่ที่กลุ่มหาต้นกล้ามาปลูกจะเป็นไม้ใหญ่ ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 20-25 ปี จึงเจริญเติบโตเต็มที่และสามารถตัดต้นขายเนื้อไม้ได้ แต่ระหว่างนี้พืชขนาดกลางที่เป็นพืชอาหารเช่น กล้วย ผักเหมียงที่ปลูกแซมไว้ก็ทำรายได้ให้กับเจ้าของสวนได้ไม่น้อย ในช่วงก่อนที่กลุ่มจะส่งเสริมการปลูกไม้อื่นๆ ไปในสวนยางเพื่อให้กลายเป็นป่ายาง ก็ต้องรู้ว่าต้นยางมีลักษณะอย่างไร โตเร็วแค่ไหน ส่วนต้นไม้อื่นที่จะนำไปปลูกแซมในสวนยางก็เช่นเดียวกันต้องรู้จักต้นไม้ชนิดนั้นให้ดีก่อน ไม่อย่างนั้น แทนที่เราจะปลูกต้นไม้ให้เกื้อกูลกันและเจริญเติบโตร่วมกัน กลับกลายเป็นว่าปลูกแล้วต้นไม้ต้องแย่งแสงแดดแย่งอาหารกัน ถึงแม้ว่าในช่วงแรกๆ ยังขาดความรู้ความเข้าใจว่าพืชชนิดไหนเหมาะสมที่จะปลูกในสวนยาง แต่หลังจากชาวตะโหมดได้ไปศึกษาดูงานในพื้นที่ต้นแบบ และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาทำงานวิจัยและให้คำแนะนำกับสมาชิกที่นำต้นไม้ไปปลูกพร้อมกับชาวบ้านเองก็ได้เรียนรู้ไปร่วมกัน ชาวตะโหมดจึงเรียนรู้และเข้าใจว่าพืชชนิดใดบ้างที่เหมาะสม และควรปลูกในช่วงเวลาไหน  

แม้ว่าจะมีการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางก็ตาม แต่หากคงใช้สารเคมีในสวนยางอยู่ ก็จะยังทำให้ดิน สัตว์แมลงถูกทำลายอยู่ดี ดังนั้นสมาชิกกลุ่มที่จะเข้าร่วมกิจกรรมปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางจำเป็นต้องงดใช้สารเคมีต่างๆ ทั้งปุ๋ยเคมี ทั้งสารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืชด้วยเพื่อรักษาสมดุล และปล่อยให้มีต้นไม้พื้นถิ่นในพื้นที่งอกขึ้นบ้าง เพื่อเป็นการช่วยคลุมดิน รักษาความชุ่มชื้นให้กับดิน การที่มีพืชหลากหลายชนิดขึ้นแซมในสวนยาง ยังเป็นประโยชน์ต่อต้นยางมากกว่าที่จะแย่งอาหารในดิน เพราะพืชแต่ละชนิดต้องการธาตุอาหารไม่เหมือนกัน และผลิตธาตุอาหารออกมาไม่เหมือนกัน ใบไม้ที่ร่วงหล่นลงดินจึงกลายเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินแทนปุ๋ยเคมีได้อีกด้วย


ป่ายาง แม้ยังไม่วัดผลสำเร็จแต่ก็เห็นผลดี

 “แต่ก่อนปลูกแต่ยาง เวลาฝนตกจะชะดินไปเป็นร่องเห็นชัดเลย แต่พอเราปลูกไม้อื่นเสริม ดินจะดีขึ้น แต่เราก็ต้องเลือกปลูกพืชที่เป็นรายได้ของเราได้ด้วย พื้นที่ฝนตกเยอะ ถ้าปลูกยางอย่างเดียวเราไม่ค่อยได้อะไร(2)

นายปาน พลเพ็ชร หรือพี่ปาน ทำสวนยางแบบเชิงเดี่ยวมานานกว่า 11 ปี เป็นคนที่ดูแลสวนยางเป็นอย่างดี คอยใส่ปุ๋ย ฉีดยากำจัดวัชพืชไม่ให้หญ้ารก ต่อมาเมื่อกลุ่มเครือข่ายชุมชนคนรักษ์ลุ่มน้ำเลสาบ จ.พัทลุง เริ่มพูดคุยและนำแนวคิดการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยาง นายปานก็ร่วมทดลองปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางของตัวเอง และไม่ใช้ปุ๋ยและสารเคมีในสวนยาง โดยพืชที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นผักเหมียงที่ปลูกไว้เยอะมากจนสวนยางรก แต่ความรกนี้กลับเป็นผลดีช่วยสร้างรายได้เสริมอย่างดีของครอบครัว แม้ในหน้าฝนซึ่งปกติฝนมักจะตกหนักนานกว่า 2 เดือน ขณะที่ครอบครัวอื่นไม่มีรายได้ เพราะกรีดยางไม่ได้เลย แต่พี่ปานยังเก็บผักเหมียงขายได้ แม้ในช่วงหน้าฝนผักเหมียงจะแตกยอดอ่อนน้อยแต่ก็ยังมีให้เก็บขายได้ประมาณเดือนละ 3,000 บาท แม้ไม่มามายนักแต่อย่างน้อยก็พอมีรายได้ ครั้นพอถึงช่วงหน้าแล้งสามารถเก็บขายได้มากกว่าเดือนละ 10,000 บาทเลยทีเดียว อีกทั้งยังมีพืชอื่นที่เป็นอาหารให้ได้เก็บกินช่วยประหยัดรายจ่ายได้อีกด้วย  
นอกจากจะมีรายได้ดีขึ้นแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำและธรรมชาติก็ดีขึ้นจนเห็นได้ชัด หลังจากที่มีพืชอาหารของสัตว์และแมลงขึ้นในสวนยาง พร้อมๆ ไปกับการที่ไม่ได้ใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช จึงทำให้มีทั้งพืช สัตว์ แมลง เข้ามาอาศัยอยู่ในสวนยางที่กลายเป็นป่ายาง อย่างเช่น แมลงพลับ แมงน้ำน้อย แมลงที่เข้ามามักจะกินใบพยอม จำปา แต่ถึงจะมีแมลงเข้ามากินก็ไม่ได้มากมายจนทำให้เกิดผลกระทบแต่อย่างใด ต้นไม้ที่มีแมลงกัดกินใบเหล่านี้เป็นไม้ที่เราใช้ประโยชน์จากลำต้นไม่ได้ใช้ประโยชน์จากใบ และผลที่ได้รับจากการไม่ใช้ปุ๋ยเคมีก็ทำให้มีน้ำยางออกเรื่อยๆ ถึงจะไม่ได้มากเหมือนตอนที่ใส่ปุ๋ยเคมี แต่น้ำยางกลับมีคุณภาพดี มีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้เปอร์เซ็นต์ยางสูงขึ้น นอกจากนี้การไม่ใช้ปุ๋ยเคมียังช่วยให้ดินไม่กระด้างมีความร่วนซุยมากขี้น มีไส้เดือน กิ้งกือ เข้ามาอาศัยในดิน ทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ขึ้น

จะเห็นได้ว่าป่ายาง เป็นรูปแบบการจัดการเชิงระบบนิเวศที่สะท้อนให้เห็นสังคมที่เกื้อกูลกันระหว่างคนและทรัพยากร อันนำมาสู่การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ แต่อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการสร้างหลักประกันความยั่งยืนของวิถีชีวิตและความปลอดภัยของคนในชุมชน  แกนนำกลุ่มจึงพยายามที่จะทำแผนร่วมกับองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานในพื้นที่ ในการหาแนวทางการจัดการปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของคนในชุมชน เครื่องมือต่างๆ และแผนสำหรับจัดการเพื่อรับมือกับสถานการณ์ปัญหาและภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้น

ยกระดับ “ป่ายาง” สู่นโยบายภาครัฐ
ภายใต้กระบวนการทำงานของชุมชนตะโหมดได้สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดที่คำนึงถึงระบบนิเวศว่า สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตต่างมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทุกมิติ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยคำนึงถึงความยั่งยืน รวมทั้งการส่งเสริมและให้สิทธิกับชุมชน ท้องถิ่น และผู้ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหลักการสำคัญอันนำมาสู่การลดความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติได้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมและสร้างคุณค่าซึ่งกันและกันในกระบวนการทำงานระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีส่วนร่วมได้อย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันหากจะวิเคราะห์เจาะลึกลงไปถึงนโยบายการผลิตเชิงพาณิชย์โดยเฉพาะเกษตรเชิงเดี่ยว ที่แม้ว่าจะมีศักยภาพการผลิตที่มหาศาล แต่ต้องยึดโยงกับราคาที่ไม่แน่นอนและปัจจัยการผลิตนำเข้า ทำให้ไม่สามารถสร้างพลังในการต่อรองได้อย่างแท้จริง ประกอบกับปัจจุบันวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ยังพึ่งพาปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้จำนวนมาก จึงทำให้ชีวิตของเกษตรกรส่วนใหญ่มี  “ความเสี่ยง”   เพิ่มขึ้น เช่น กรณีนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชน้ำมันและพืชยางพาราก็เช่นกันแม้จะสร้างรายได้ที่สูงให้กับเกษตรกร แต่ระบบการผลิตก็ยังผูกติดอยู่กับระบบตลาดและมีการใช้สารเคมีและปุ๋ยเพื่อเร่งผลผลิต ประกอบกับการส่งเสริมปลูกพืชเชิงเดี่ยวนั้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงด้านอาหารของเกษตรกรผู้ผลิต

ดังนั้นเพื่อให้เกษตรกรได้รู้เท่าทัน สามารถวิเคราะห์และวางแผนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิตได้อย่างเหมาะสม จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและแผนงานใหม่ คือ “การส่งเสริมการผลิตที่เหมาะสมกับสภาพของระบบนิเวศและรักษาความมั่นคงทางอาหารให้ยั่งยืนในอนาคต” ดั่งกรณีการส่งเสริมการปลูกยางพารา แทนที่จะส่งเสริมในรูปแบบการปลูกเชิงเดี่ยวเหมือนในอดีต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมการทำสวนยางพาราใหม่ โดยต้องสร้างทางเลือกให้กับเกษตรชาวสวนยางพาราได้ทำสวนยางพาราที่เพิ่มความมั่นคงด้านอาหารและด้านอาชีพให้กับเกษตรมากขึ้นโดยไม่เน้นปลูกยางพาราเชิงเดี่ยว แต่เน้นการปลูกยางพาราร่วมกับพืชชนิดอื่นๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของระบบนิเวศ และให้สวนยางพาราได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ดิน น้ำ ป่า และนำมาซึ่งความมั่นคงด้านอาหารของเกษตรกรผู้เพาะปลูกอีกทางหนึ่งด้วย หากส่งเสริมนโยบายในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้นได้จริงจะทำให้เกิดความมั่นคงและมั่งคั่งกับทั้งตัวเกษตรกรเอง และนำมาสู่ความยั่งยืนในระบบการผลิตของประเทศมากขึ้นอีกด้วย


(1) วิฑูร หนูเสน อายุ 65 ปี

(2) สัมภาษณ์ นายปาน พลเพ็ชร อายุ 38 ปี สมาชิกกลุ่มเครือข่ายชุมชนคนรักษ์ลุ่มน้ำเลสาบ จ.พัทลุง

Scroll to Top