การจัดทำผังชุมชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการจัดการภัยพิบัติ

นางสาวเยาวลักษณ์ จันทมาศ
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

การวางผังเมืองมีหลายระดับ ตั้งแต่ ผังชุมชน ผังเมืองเฉพาะ ผังเมืองรวม ผังภาคจนถึงผังประเทศ (กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2550) โดยแต่ละผังจะมีรายละเอียดของการวางแผนที่ต่างกัน สำหรับผังชุมชน ซึ่งเรากำลังกล่าวถึง ถือเป็นผังในระดับเล็กที่สุด จะครอบคลุมพื้นที่ในระดับตำบลหรือหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านในชุมชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับการจัดทำผังได้อย่างทั่วถึง ซึ่งผังชุมชนที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของชุมชนสามารถนำไปสู่การพัฒนาและยกระดับเป็นผังจังหวัด หรือผังภาคในอนาคตได้อีกด้วย 

เป้าหมายของการวางผังชุมชน คือ การพัฒนาชุมชนให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม เกิดการพัฒนาชุมชนไปพร้อมกับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนอย่างยั่งยืน (เยาวลักษณ์ จันทมาศ, 2556) เกิดการกำหนดบทบาทและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินของชุมชนในอนาคตอย่างเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการและโครงสร้างพื้นฐานอย่างครบครันและทั่วถึง ภายใต้ขีดจำกัดในการพัฒนาที่จะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติดั้งเดิมที่มีอยู่ในชุมชน รวมทั้งมีขีดความสามารถในการจัดการภัยพิบัติและลดความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพอากาศในพื้นที่ได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

กระบวนการทำผังชุมชนภายใต้โครงการอินคา

ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลในขั้นต้นเพื่อนำมาสู่การวิเคราะห์พื้นที่ สภาพปัญหา ข้อมูลโครงสร้างพื้นที่
การย้อนกลับไปหาข้อมูลในอดีตว่าชุมชนดั้งเดิมเป็นอย่างไร สภาพพื้นที่ชุมชนในอดีตแตกต่างจากในปัจจุบันมากน้อยเพียงใด สภาพอากาศและภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในอดีตเปรียบเทียบกับในปัจจุบัน อันไหนมีความรุนแรงและสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ได้มากกว่ากัน จะทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์ความรุนแรงของภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพอากาศได้ชัดเจนและมีรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เรื่องราวเหล่านี้ได้ถูกเล่าเรียง ถ่ายทอดถักทอออกมาเป็นคำพูดจากประสบการณ์ของผู้เฒ่าและผู้นำในหมู่บ้าน จะต้องมีการให้รายละเอียดทั้งผู้ที่ให้ข้อมูลและข้อมูลสำคัญที่ได้มาและต้องสอบถามข้อมูลจากหลายท่านก่อนที่จะมีการสรุปเนื้อหา

ตัวอย่างเช่น การสอบถามชาวบ้านเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านเกาะมุกด์
นางกูแนะ สุเหร็น (ม๊ะเอียด) อายุ 61 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 2 อ่าวควน ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ซึ่งม๊ะเอียดเล่าว่า “แต่เดิมพื้นที่เกาะมุกด์มีหน้าหาดที่ยาวมากกว่านี้ ลงไปไกลกว่าต้นมะพร้าวที่ปลูกอยู่แนวหน้าหาดสองเท่า คิดดูแล้วก็ 10 หลาได้มั้ง แต่ตอนนี้น้ำทะเลรุกขึ้นมามาก เวลาน้ำลดเรือก็ติดกันอยู่ออกไปไหนไม่ได้ เพราะหน้าหาดแคบ แค่เรือชาวบ้านจอดก็เต็มแล้ว”
นางระเบียบ ทาตะภิรมย์ อายุ 43 ปี ปัจจุบันอาศัยอยู่ในหมู่ที่ 3 บ้านจงเก ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุงพี่เบียบเล่าว่า “พี่เบียบไม่ใช่คนดั้งเดิมในพื้นที่ แต่แต่งงานแล้วย้ายตามสามี คือพี่เล็ก มาอยู่ที่นี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 คือ เมื่อประมาณ 23 ปีก่อน ตอนนั้นถนนของหมู่บ้านยังต่ำกว่าถนนอยู่เลย แต่ตอนนี้ถนนอยู่สูงกว่าแนวบ้าน 5 เมตร เพราะพอเกิดน้ำท่วม ทางหลวงเค้าก็มาถมถนนให้สูงขึ้น ไม่ให้ถนนโดนน้ำท่วม แต่พอถนนไม่ถูกท่วม น้ำมันก็ไหลลงมาใส่บ้านเราเต็มๆ เพราะถนนสูง กั้นทางไหลของน้ำ น้ำไหลลงทะเลสาบไม่ทัน ถ้าน้ำทะเลหนุนสูง น้ำจะท่วมขังเลย ไม่ลด เพราะเดี๋ยวนี้ทะเลสาบก็น้ำตื้น ยิ่งในปี พ.ศ.2548 น้ำท่วมหนักมาก พอน้ำท่วมต้องย้ายจากชั้นหนึ่งขึ้นไปอยู่ชั้นสอง คนข้างด้านที่มีบ้านชั้นเดียว ต้องอยู่บนแคร่ เพราะบ้านใหม่ๆ ที่เพิ่งสร้างเดี๋ยวนี้เป็นบ้านไม่ยกพื้นทั้งนั้น บ้านเก่าๆ ที่เป็นบ้านยกพื้นสูงก็รอดไป ไม่โดนน้ำท่วมขัง เสียหายน้อยกว่า ส่วนนานี่ไม่ต้องพูดถึง น้ำท่วมข้าวตาย ขาดทุนกันเยอะมากปีนั้น ”

 ขั้นตอนที่ 2 การสำรวจชุมชน เป็นขั้นตอนการลงสำรวจพื้นที่จริง เพื่อนำมาสู่การตรวจสอบระดับความรุนแรงของสภาพปัญหา ข้อมูลสภาพที่อยู่อาศัยและสภาพโครงสร้างของพื้นที่

จาการลงสำรวจชุมชนของคณะผู้ทำงาน พบว่า พื้นที่ศึกษาทั้ง 2 พื้นที่ประสบปัญหาหลักคือปัญหาน้ำท่วม และปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ทั้งนี้อาจจะมาจากสาเหตุหลักหลายประการรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการออกแบบที่อยู่อาศัยไม่สอดคล้องกับลักษณะทางกายภาพของพื้นที่ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ชุมชนบ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง มีลักษณะสภาพพื้นที่เป็นเกาะ ที่มีน้ำทะเลล้อมรอบ บริเวณด้านหน้าเกาะ เริ่มประสบปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่พื้นที่ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เป็นพื้นที่ปลายน้ำของลุ่มน้ำท่าเชียด ตั้งอยู่ติดกับทะเลสาบสงขลา โดยส่วนใหญ่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยจะอยู่ตำกว่าถนน เพราะถนนถูกถมให้สูงกว่าระดับน้ำท่วม เพื่อแก้ปัญหาเส้นทางถนนในพื้นที่ถูกตัดขาด เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 3 การทำแผนที่ทำมือ เป็นขั้นตอนในการเริ่มดำเนินการจัดทำแผนที่ โดยการนำแผนที่ต้นแบบของทั้งหมู่บ้านและตำบลที่ได้มาพิมพ์ออกมาให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อให้ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมาย ได้ตรวจสอบความถูกต้อง

ขั้นตอนที่ 
4 การสรุปข้อมูลการทำแผนที่ทำมือโดยกระบวนการมีส่วนร่วม เป็นขั้นตอนที่หลังจากมีการรวบรวมข้อมูลแผนที่ทำมือทั้งหมดและนำไปสู่การจัดทำแผนที่ฉบับร่าง ครั้งที่ 1 แล้วนำไปสู่การจัดประชุมเรื่อง ผังชุมชนกับกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ โดยการให้ตัวแทนชาวบ้าน เข้ามาร่วมในกระบวนการตรวจสอบความถูกต้องของผังสี (Land use Planning) และผังชุมชนที่ได้มาจากการลงพื้นที่จัดทำกับชาวบ้าน

ขั้นตอนที่ 
แผนที่ที่มาจากกระบวนการมีส่วนร่วมโดยสมบูรณ์จากชาวบ้านในพื้นที่เป็นขั้นตอนที่หลังจากจัดให้มีการประชุม เพื่อนำเสนอแผนที่เข้าสู่ตำบล และเพื่อให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมระหว่างชาวบ้าน หน่วยงานรัฐในพื้นที่และคณะผู้จัดทำแผนที่ จนได้แผนที่ฉบับแก้ไข ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบและปรับแก้ข้อมูลโดยประชาชนในพื้นที่เอง

บทเรียนจากการทำผังชุมชนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและจัดการภัยพิบัติ

ปัญหาอุปสรรคที่พบในช่วงระหว่างการทำงานคือ พื้นที่ศึกษาทั้ง 2 พื้นที่ไม่มีผังชุมชนเป็นของตนเอง แม้กระทั่งผังสีในผังเมืองรวมจังหวัดก็ไม่มี ทำให้ยากต่อการดำเนินการพัฒนาผังชุมชนในพื้นที่ และต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการในกระบวนการต่างๆ นานพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านในชุมชน เพราะชาวบ้านไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นทางด้านผังชุมชนเลย นอกจากนี้ยังจะต้องมีการทำความเข้าใจและพัฒนาแผนงานร่วมกับองค์กรรัฐท้องถิ่น เพื่อต่อยอดและส่งเสริมกระบวนการผังชุมชนของพื้นที่ศึกษาในอนาคตต่อไป แต่เนื่องจากระบบราชการของพื้นที่ศึกษาในแต่ละพื้นที่มีรูปแบบแตกต่างกัน การดำเนินการจึงค่อนข้างจะยุ่งยากและซับซ้อน ส่งผลให้การจัดทำผังชุมชนไม่สามารถจัดทำในระยะเวลาสั้นๆ ได้อย่างสมบูรณ์ข้อจำกัดเรื่องความรู้ความเข้าในทางด้านผังชุมชนของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้เกิดการวางแผนเสริมสร้าง ทำความเข้าใจกับชาวบ้านเรื่องผังชุมชนเป็นประเด็นแรก เกิดการลงไปพบตัวแทนชาวบ้านในหมู่ต่างๆ เพื่ออธิบาย ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำผังชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพอากาศในพื้นที่ จากมุมมองของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่มานานและมองเห็นสภาพการเปลี่ยนแปลงไปของชุมชนตัวเอง อีกทั้งยังมีความเข้าใจในกลไลการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างดี เช่น การเล่าถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพชายหาดบ้านเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง และการเปลี่ยนแปลงไปของสภาพชุมชนจองถนน จังหวัดพัทลุง หลังจากเกิดการถมถนนและเกิดถนนสายหลักเส้นใหม่พาดผ่านในชุมชน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการทำความเข้าใจและวางแผนการทำงานในอนาคตร่วมกับองค์กรรัฐส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ได้แก่ บ้านเกาะมุกด์ อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบล เกาะลิบง และตำบลจองถนน อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลจองถนน



บทสรุป

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงและถี่ขึ้น ดังนั้น การจัดการภัยธรรมชาติโดยใช้มาตรการการวางผังชุมชนและการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดความเสี่ยงจากปัจจัยสภาพภูมิอากาศดังเช่นที่ บ้านเกาะมุกด์นำมาใช้การตั้งรับกับพายุ คลื่นลมและมรสุม หรือ วางแผนเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในตำบลจองถนนลุ่มน้ำท่าเชียด อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการจัดทำผังชุมชนและวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินจะต้องนำเอาปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาพิจารณาร่วมทั้งในแง่ของการบรรเทาผลกระทบและการปรับตัวภายใต้ข้อมูลเชิงพื้นที่ องค์ความรู้ของทุกภาคีที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือ ความพร้อมในการปรับตัวของชุมชน เพราะดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าแนวทางนี้เป็นเพียงการเพิ่มทางเลือกให้แก่ชุมชนในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่านั้น การจะประสบผลสำเร็จหรือไม่นั้นยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน แต่จะเป็นอีกมาตราการหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อีกทั้งเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่จะส่งเสริมให้คนในชุมชน ทั้งหญิง ชาย เด็ก และเยาวชนได้มีส่วนร่วมในกระบวนการคิด ป้องกัน และกำหนดทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้

Scroll to Top