เด็กตราด : ผู้สืบสานการใช้และปกป้องทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

เด็กตราดร้อยละ 54 อยากให้คนมองจังหวัดตราดเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากงานวิจัยของมูลนิธินโยบายสาธารณะ ที่สะท้อนให้เห็นมุมมองของเยาวชนคนตราดที่ภาคภูมิใจในความสวยงามของธรรมชาติบ้านตน โดยเฉพาะชายหาด ในอ่าวตราดทั้งเป็นแหล่งอาหารทะเลรสชาติดี เนื่องจากมีลักษณะนิเวศน์เป็นอ่าวทำให้ที่เรียกว่าอ่าวตราดและอ่าวใหญ่ มีอาหารขึ้นชื่อหลายเมนูเป็นของขวัญจากทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งเป็นจังหวัดที่มีปลาโลมาชุกชุม

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนวิถีชีวิตทำให้การใช้ทรัพยากรเกินศักยภาพของระบบนิเวศน์ เกือบทุกพื้นที่ของตราดมีปัญหาทรัพยากรทะเลและชายฝั่งเสื่อมโทรม ป่าชายเลนที่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์น้ำวัยอ่อนถูกบุกรุกทำลาย หลายแห่งจึงมีการตั้งกลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทะเลและชายฝั่งทั้งจากการสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและจากจิตอาสาก่อตั้งกันเอง ทำให้ทรัพยากรได้รับการฟื้นฟู หลายพื้นที่ความสมบูรณ์เริ่มกลับคืนมาเนื่องจากมีกลุ่มมีความเข้มแข็ง สมาชิกมีความเสียสละ แต่จุดที่เป็นข้ออ่อนของกลุ่มอนุรักษ์ส่วนใหญ่คือ การขาดคนรุ่นใหม่ในการสืบสานงานอนุรักษ์ต่อ สมาชิกกลุ่มมีอายุมากขึ้น ทำให้หลายกลุ่มหันมาให้ความสนใจในการปั้นนักอนุรักษ์รุ่นใหม่เพื่อสืบสานงานต่อ ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ต้องการพัฒนาศักยภาพแกนนำและเยาวชนรวมทั้ง เชื่อมร้อยคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่ารอบอ่าวตราด ทำให้เราได้มีโอกาสทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนในหลายตำบลรอบอ่าวตราด ทั้ง ตำบลไม้รูด แหลมกลัด ชำราก ตะกาง ท่าพริก หนองคันทรง ทำให้เห็นความคิดของคนรุ่นใหม่ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรในชุมชนตนเอง เยาวชนเห็นว่าการอนุรักษ์ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งต้องทำให้คนในชุมชนรู้คุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากร โดยเฉพาะเยาวชนด้วยกันเอง โดยการเล่าผ่านสื่อต่างๆ เราพบว่าเยาวชนหลายคนรู้จักแหล่งพืชพันธุ์และสัตว์น้ำทะเลรวมทั้งสามารถหาและใช้ประโยชน์ได้ผ่านการถ่ายทอดของคนในครอบครัว แต่หลายคน ไม่รู้จักแหล่งและการใช้ รวมถึงไม่รู้ว่ามีประโยชน์อย่างไร เนื่องจากขาดการถ่ายทอดวิถีชีวิตให้กับคนรุ่นใหม่

สิ่งที่คล้ายคลึงของความคิดเยาวชนคือ ต้องการประชาสัมพันธ์ให้คนในและนอกชุมชมรับรู้ทรัพยากรที่โดดเด่นในตำบลตนเองเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม โดยมองว่า หากเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำให้คนในชุมชนต้องรักษาทรัพยากรไว้ตามที่ประชาสัมพันธ์ไว้ ทั้งยังเพิ่มช่องทางรายได้ที่หลากหลายให้กับคนในชุมชน
เยาวชนได้สะท้อนว่าสิ่งที่ทำให้เด็กๆ หันมาสนใจเรื่องงานอนุรักษ์เนื่องจากการได้ฟังคำบอกเล่าจากผู้ใหญ่หลายๆครั้ง ได้ลงไปสำรวจพื้นที่ ทั้งการได้มีโอกาสอบรมและดูงานการอนุรักษ์ของหลายๆแห่งทำให้เกิดแรงบันดาลใจอยากจะรักษาและฟื้นฟูทรัพยากรบ้านตนเองให้ได้อย่างพื้นที่อื่น

การเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสได้ร่วมเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ ในการใช้การอนุรักษ์ รวมทั้งการถ่ายทอดให้คนรุ่นใหม่ได้รู้ถึงจักคุณค่าและการใช้ทรัพยากรทะเลและชายฝั่งแบบยั่งยืน ผ่านคนในครอบครัวและชุมชน รวมทั้งได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเยาวชนในพื้นที่อื่นๆ  เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้อนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรได้ดำเนินการต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้  โดยเปิดใจให้เยาวชนได้สร้างสรรค์ความคิดแนวใหม่ให้กับชุมชน เป็นการเปิดโลกทัศน์การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งแบบใหม่ๆ ตามวิธีคิดของเยาวชน โดยมีผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนและเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่ต่อเนื่อง ไม่แน่ว่าความคิดสร้างสรรของเด็กรุ่นใหม่จะทำให้อนาคตตราดเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ขึ้นชื่ออันดับต้นๆ ของประเทศอย่างที่เด็กตราดอยากให้เป็นก็เกิดขึ้นได้  เพราะอนาคตตราดควรให้เด็กตราดรุ่นใหม่ได้มีส่วนในการกำหนดอนาคตที่เขาอยากให้เป็น

Scroll to Top