บทเรียนการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งหญ้าทะเลเทียม บ้านปากคลองอ่าวระวะ ตำบลแหลมกลัด อำเภอเมือง

บ้านปากคลองอ่าวระวะบ้านเรือส่วนใหญ่ตั้งอยู่สองฝั่งคลองบริเวณใกล้ปากคลองอ่าวระวะ และแทบทุกบ้านจะมีเรือประมงจอดอยู่หน้าบ้าน เพราะอาชีพหลักของคนในชุมชนคืออาชีพประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะประมงปูม้า แต่ด้วยเพราะบ้านปากคลองอ่าวระวะอยู่ในบริเวณท้องอ่าวตราด การทำประมงปูม้าจึงทำได้ในช่วงหลังฤดูฝนผ่นผ่านไปแล้ว คือประมาณเดือนพฤศจิกายน-เมษายน ส่วนในช่วงฤดูฝนความเค็มของน้ำทะเลในบริเวณท้องอ่าวลดลงเพราะปริมาณน้ำจืดจากต้นน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลทำให้น้ำทะเลจืด ปูม้าจึงขยับออกไปไกลด้านนอกท้องอ่าว ในช่วงเวลานั้นการชาวประมงทำประมงไม่ค่อยได้มากนัก

เมื่อทำการประมงปูม้าได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ และปริมาณปูม้าในปัจจุบันก็มีจำนวนลดลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นปัญหาเดียวกันกับชุมชนอื่นๆ รอบอ่าวตราดและพื้นที่ใกล้เคียง เพราะเป็นระบบนิเวศเดียวกัน จึงเกิดการร่วมกลุ่มกันของคนในชุมชน จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์ประมงชายฝั่งบ้านปากคลองอ่าวระวะ และทำกิจกรรมอนุรักษ์พื้นฟูทรัพยากร กำหนดเขตอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำบริเวณหน้าบ้านขึ้น และมีการทำธนาคารปูม้าแบบโรงเพาะฟักในถังแล้วนำไปปล่อยในทะเลบริเวณเขตอนุรักษ์ที่ชุมชนกำหนดขึ้น หลังจากทำไประยะหนึ่งก็เกิดความกังวลว่าปูที่ปล่อยลงไปในทะเลจะปลอดภัยและสามารถเจริญเติบโตได้มากแค่ไหน จึงเริ่มสนใจว่าจะสามารถทำอะไรได้ โดยเฉพาะหลังจากได้เห็นรูปแบบการทำซั้งเชือกที่ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งนำไปส่งเสริมและสนับสนุนในพื้นที่อื่นๆ จึงคิดที่จะทำซั้งเชือกในพื่นที่บ้าง

กระบวนการและวิธีการ
พื้นที่ทะเลบริเวณหน้าปากคลองอ่าวระวะมีความลึกไม่มากนักเพียงประมาณ 2 เมตร  ไม่สามารถทิ้งซั้งเชือกได้ เพราะซั้งเชือกเหมาะกับพื้นที่ที่มีความลึกเกินกว่า 5 เมตร ชุมชนจึงร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรได้เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่ โดยนำเอารูปแบบซั้งเชือกมาดัดแปลง คิดว่าจะใช้แท่นปูนแบบเดียวกับซั้งเชือกเป็นฐานเหมือนกัน แต่แทนที่จะใช้เชือกเส้นยาวเป็นแกนกลางเหมือนซั้งเชือก ปรับเปลี่ยนเป็นเชือกเส้นไม่ยาวมากนัก ประมาณ 1.50 เมตร มัดติดไว้กับแท่นปูนและคลี่เส้นเชือกให้เป็นเส้นเล็ก หลังจากคิดรูปแบบและอยากทดลองทำได้นำรูปแบบดังกล่าวไปปรึกษากับทางศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จ.ระยอง และได้รับการสนับสนุนจัดทำมาให้กับชุมชน โดยในครั้งแรกนี้ได้รับการสนับุสนุนการผลิตหญ้าทะเลเทียมทั้งสิ้นประมาณ  50 ลูก และในปีถัดมาได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการทำหญ้าทะเลเทียม โดยชาวบ้านร่วมกันทำขึ้นเองจากเงินงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุน ตั้งแต่การหล่อแท่นปูนไปจนถึงนำไปทิ้งในทะเล ซึ่งก็มีการปรับรูปแบบและขนาดของแท่นปูนที่เป็นฐานให้เล็กลง เพื่อง่ายต่อการขนย้าย

การทิ้งหญ้าทะเลเทียมในบ้านปากคลองอ่าวระวะ จะทิ้งในบริเวณเขตอนุรักษ์พื้นที่ตั้งแต่ชายหาดออกไปประมาณ 500 เมตร ระยะทางตั้งแต่ปากคลองยาวไปประมาณ 1,500 เมตร ทิ้งเรียงกันเป็นแนว ถ้านับตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบันนี้ทิ้งหญ้าทะเลเทียมในบริเวณเขตอนุรักษ์ไปแล้วกว่า 500 ลูกภายในระยะเวลา 3 ปี คือ ปีแรกประมาณ 50 ลูก ส่วนปีที่ 2และ 3 ซึ่งได้นับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัทเอกชน สามารถทิ้งได้ประมาณปีละ 200 ลูก และในปีนี้ก็ยังได้รับงบประมาณเช่นเคย และได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากประมงจังหวัดอีกจำนวน 60 ลูก

ผลที่เกิดขึ้นจากการทิ้งหญ้าทะเลเทียม

  • ทำให้ลูกปูที่ปล่อยมีแหล่งที่อยู่อาศัยและหลบภัยจนเจริญเติบโต ทำให้ชาวประมงสามารถจับปูได้มากขึ้น (เคยมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมาดำน้ำดูแล้วเห็นว่ามีลูกปูเกาะอยู่ตามเชือก)
  • รายได้จากการทำประมงเพิ่มขึ้น จากที่เคยได้ไม่มากบางครั้งก็ได้ไม่คุ้มค่าน้ำมัน กลายเป็นได้วันละกว่า 1000 บาท
  • เป็นแหล่งให้ปลามาวางไข่
  • เป็นอยู่อาศัยและหลบภัยของสัตว์น้ำขนาด ทำให้สัตว์น้ำมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น เพราะพอมีปลาขนาดเล็ก ก็จะมีปลาขนาดใหญ่เข้ามากินปลาขนาดเล็กที่อาศัย ทั้งปลาเก๋า ปลากุเลา ปลาอังเก๋ย ปูม้า ปูดำ กั้ง

ปัญหาอุปสรรค
กิจกรรมการทิ้งหญ้าทะเลเทียมสามารถทำได้อย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะกิจกรรมที่ทำเป็นช่วงสั้นๆ แต่การทำธนาคารปูม้ารวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ของกลุ่มอนุรักษ์บ้านปากคลองอ่าวระวะ ยังไม่ค่อยต่อเนื่องเพราะแกนนำกลุ่มมีบทบาทหน้าที่หลายอย่าง ทำให้ไม่ค่อยมีเวลา และสมาชิกยังไม่กล้าดำเนินกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเอง ในการดำเนินกิจกรรมแต่ละอย่างจึงยังคงให้แกนนำเป็นผู้ดำเนินการหลัก นอกจากนี้ยังมีการลักลอบเข้าไปวางอวนในเขตอนุรักษ์

อีกปัจจัยที่ทำให้กิจกรรมอนุรักษ์ในบ้านปากคลองอ่าวระวะไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าที่ควร คือการขาดการมีส่วนร่วมและความไม่เข้าใจของกลุ่มคนที่ไม่เป็นสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์ การดำเนินการกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มอนุรักษ์ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงมีแต่เพียงสมาชิกกลุ่มเท่านั้น รวมถึงบางส่วนยังเกิดจากความไม่ลงรอยกันของกลุ่มและคนที่ไม่เห็นด้วยกับบางกิจกรรมขอกลุ่ม

ข้อเสนอและแผนงานในอนาคต

  • อยากให้มีหน่วยงานที่ทักษะเข้ามาดำน้ำเพื่อสำรวจผลจากการทิ้งหญ้าทะเลเทียมว่าหลังจากทิ้งไปแล้วมีสัตว์น้ำอะไรอาศัยอยู่บ้าง มากน้อยแค่ไหน และอยากให้มีการทำความสะอาดเชือกบ้าง
  • ทำให้เขตอนุรักษ์ที่ทิ้งหญ้าทะเลเทียมเป็นเขตคุ้มครองสัตว์น้ำ
  • จัดกิจกรรมการทิ้งหญ้าทะเลเทียมต่อไปทุกปี และชักชวนหน่วยงานราชการ โรงเรียนในชุมชน และนอกชุมชนเข้าร่วมกิจกรรม
  • ทำให้กิจกรรมการทำซั้งเชือกเป็นส่วนหนึ่งให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม ทั้งการสนับสนุนงบประมาณ และทำกิจกรรมการคลี่เชือกที่มัดแท้นปูน
Scroll to Top