บทเรียนการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งซั้งเชือก บ้านห้วงบอน ตำบลไม้รูด อำเภอคลองใหญ่

บ้านห้วงบอน หมู่ 5 ตำบลไม้รูด เป็นชุมชนประมงที่อยู่ริมชายหาด มีการทำกิจกรรมอนุรักษ์ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลง เพราะอาชีพหลักของชาวบ้านในบ้านห้วงบอนคือ อาชีพประมงชายฝั่ง เรือประมงส่วนใหญีมีขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 3 วา การทำประมงจึงออกไปทำการประมงเพียงบริเวณหน้าหมู่บ้าน ไม่สามารถออกไปยังที่ไกลๆ ได้ กิจกรรมที่ทำมีทั้งการปล่อยพันธุ์ส้ตว์น้ำ และการทำธนาคารปูม้า เพื่อช่วยให้ทรัพยากรสัตว์น้ำฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยจะปล่อยลูกปูที่เพาะฟักในบริเวณริมชายหาดใกล้ๆ ที่ตั้งธนาคารปูม้า

หลังจากทำธนาคารปูม้าแล้ว แกนนำกลุ่มมองว่าการปล่อยลูกปูลงสู่ทะเล จำเป็นต้องมีที่อาศัยและหลบภัยให้กับลูกปูที่ปล่อยลงไปด้วย จึงได้นำเอาภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ทำเถากระฉอดเพื่อใช้ดักลูกปลาเก๋ามาใช้เป็นบ้านปู เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ในแต่ละครั้งที่ยกเถากระฉอดขึ้นเพื่อจับลูกปลาเก๋าจะพบว่ามีลูกปลาชนิดอื่นๆ และมีลูกปูม้ารวมอยู่ด้วย จึงชักชวนให้ทุกคนช่วยกันทำเถากระฉอดไปทิ่งในทะเลให้มากขึ้นเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยและหลบภัยของลูกปู รวมถึงสัตว์น้ำวัยอ่อนชนิดอื่นๆด้วย

กระบวนการและวิธีการ
เถากระฉอดที่ชาวบ้านร่วมกันทำและนำไปทิ้งนั้นค่อนข้างได้ผลดีมีลูกปูไปอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เถากระฉอดยังมีข้อจำกัดในเรื่องอายุการใช้งานที่ไม่นานนัก ประกอบกับในช่วงฤดูมรสุมเถากระฉอดก็จะถูกคลื่นลมพัดเสียหาย แต่ทางชุมชนก็ยังไม่สามารถหาวิธีการอื่นที่ชุมชนสามารถดำเนินการเองได้ จึงปรึกษาหารือและขอความสนับสนุนจากศูนย์อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 จ.ระยอง โดย แนะนำให้ใช้ซั้งเชือก พร้อมทั้งให้การสนับสนุนซั้งเชือกนำมาทิ้งในชุมชนจำนวน 20 ลูก ในปี 2555 และต่อมาในปี 2556 ประมงจังหวัดก็สนับสนุนซั้งเชือกให้ชุมชน จำนวน 100 ลูก และปี 2558 2559 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งสนับสนุนซั้งเชือกให้ชุมชนเพิ่มเติมอีก ในปัจจุบันบ้านคลองมะโรทิ้งซั้งเชือกไปแล้วกว่า 150 ลูก แต่ปัจจุบันมีทุ่นหลุดทำให้ซั่งเชือกจมกว่าเกือบร้อยละ 50
การทิ้งซั้งเชือกที่บ้านห้วงบอนจะทิ้งห่างจากฝั่งประมาณ 100 เมตร ตลอดตั้งแต่ปากคลองมะโรถึงหน้าหาดไพลิน ลักษณะการทิ้งซั้งเชือกบ้านคลองมะโรจะทิ้งกระจายเป็นจุดๆ แต่ละจุดทิ้งเป็นวงกลมรอบบ้านปลา(ยางรถยนต์เก่า) การทิ้งซั้งเชือกนี้เป้าหมายหลักเพื่อเป็นแหล่งหลบภัยและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำให้สามารถเจริญเติบโต จึงได้กำหนดให้ในบริเวณทิ้งซั้งเชือกเป็นเขตอนุรักษ์ ห้ามทำการประมงหลายประเภทที่อาจะส่งผลกระทบต่อซั้งเชือก และสัตว์น้ำวัยอ่อนที่อาศัยซ้งเชือกเป็นที่อาศัย

บริเวณเขตอนุรักษ์บ้านของคลองมะโรก็คือบริเวณที่ทิ้งซั้งเชือก คลอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ชายหาดออกไปประมาณ 2-300 เมตร ยาวตลอดตั้งแต่คลองมะโรถึงหาดไพลิน ก่อนกำหนดพื้นที่ทิ้งซั้งเชือกและกำหนดให้เป็นเขตอนุรักษ์ ได้มีการประชุมหารือและทำความเข้าใจร่วมกันของชาวบ้านในชุมชนก่อน เพื่อสร้างข้อตกลงที่เกิดจากความเห็นพ้องของชุมชน และหลังจากการประชุมเกิดข้อตกลงในการใช้ประโยชน์ในพื้นที่อนุรักษ์ขึ้นดั้งนี้คือ ห้ามใช้ยาน็อค ห้ามวางอวนลอม ห้ามใช้ลอบพับ และมีข้อกำหนดเพิ่มเติมอีกคือ ห้ามใช้เครื่องมือดำน้ำจับหอยแมลงภู่ แม้ว่าข้อตกลงเหล่านี้จะเกิดจากความเห็นพ้องของชุมชน แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่ค่อยเห็นด้วยเนื่องจากมีอาชีพวางอวนปลากระบอก ซึ่งต้องวางอวนในบริเวณเขตอนุรักษ์ หากมีการกันเขตและห้ามวางอวนจะได้รับผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ

แม้ว่าคนที่ไม่เห็นด้วยจะมีเพียงไม่กี่ราย แต่ก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วย เพื่อป้องกันการบาดหมางกันในชุมชน จึงต้องพูดคุยสร้างความเข้าใจให้เห็นความจำเป็นในการฟื้นฟูทรัพยากรและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น รวมถึงต้องช่วยกันหาทางออกสำหรับผลกระทบด้านอาชีพของกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ

ผลการดำเนินงานและแผนในอนาคต
หลังจากทิ้งซั้งเชือกเพียงไม่นาน ก็มีทั้งลูกปู ลูกปลา มาอยู่ในบริเวณซั้งเชือก รวมถึงมีหอยแมลงภู่มาเกาะที่ซั้งเชือก นอกจากประโยชน์ตัวของซั้งเชือก การกำหนดให้บริเวณทิ้งซั้งเชือกเป็นแนวเขตอนุรักษ์ ยังส่งผลให้ในเขตอนุรักษ์มีปลาหลากหลายชนิดและจำนวนมากขึ้น ดูได้จากการสัตว์น้ำที่จับได้จากการตกปลา(สามารถตกปลาในเขตอนุรักษ์ได้)  นอกจากจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำแล้ว ซั้งเชือกยังช่วยชะลอความเร็วแรงของคลื่น ช่วยป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งได้อีกด้วย

ปัญหาอุปสรรค

  1. แม้ว่าการทิ้งซั้งเชือกและกันเขตอนุรักษ์จะเกิดขึ้นจากการพูดคุยและกำหนดกติการ่วมกันของคนในชุมชน แต่ก็ยังมีบางคนที่ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่มีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น เพราะเป้นกติกาที่กำหนดร่วมกันของคนไม่ชุมชนไม่ได้เกิดจากการสั่งการของใครคนใดคนหนึ่ง
  2. หลังทิ้งซั้งเชือกไม่นานก็มีหอยแมลงภู่มาเกาะที่ซั้งเชือกจำนวนมาก กลายเป็นอีกแหล่งอาหารและรายได้ของคนในชุมชน แต่ก็ทำให้เกิดความชัดแย้ง แย่งผลประโยชน์กันด้วย เพราะมีชาวประมงบางรายดำน้ำเก็บหอยที่เกาะซั้งเชือก แต่ดำน้ำโดยใช้เครื่องมือช่วยหายใจเพื่อให้สามารถเก็บได้จำนวนมากและนำไปชายเป็นราย  จึงต้องมีประชุมหารือเพื่อกำหนดกติกาเพิ่มเติมห้ามดำน้ำเก็บหอยโดยใช้เครื่องมือช่วยหายใจในการดำน้ำ แต่ก็สามารถหาขายได้
  3. ความเสียหายของซั้งเชือกเป็นอีกปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะซั้งเชือกจำเป็นต้องมีทุ่นลอยช่วยดึงให้เชือกตั้งอยู่ได้ แต่ก็มีทุ่นจำนวนหนึ่ง ซึ่งตัวทุนยึดทุ่นไม่ค่อยแข็งแรงทำให้เมื่อมีคลื่นลมแรงทุ่นก็หลุดออกจากเชือกไป ทำให้ซั้งไม่เกิดประโยชน์ จมอยู่ในน้ำบริเวณผิวดิน 

บทเรียนและปัจจัยที่มีผลต่อการทำซั้งเชือกของบ้านห้วงบอน
การทำซั้งเชือกบ้านห้วงบอนแม้จะเริ่มต้นแนวคิดจากแกนนำชุมชน แต่ก่อนที่จะดำเนินการไม่ว่าจะเป็นการทำธนาคารปูม้า การทิ้งเถาว์กระฉอด และการทิ้งซั้งเชือกรวมไปถึงการกำหนดเขตอนุรักษ์และข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์นเขตอนุรักษ์ ต่างเกิดขึ้นจากการพูดคุยหารือและหาข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชน และต้องให้ความใส่ใจกับคนที่ไม่เห็น เพราะถ้าไม่สร้างความเข้าใจกับคนที่มีความเห็นต่างอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งในชุมชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชน ยิ่งต้องให้ความใส่ใจและช่วยกันหาแนวทางแก้ไขหรือทางเลือกให้กับกลุ่มคนเหล่านั้นด้วย
นอกจากคนในชุมชนที่นับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำกิจกรรมของชุมชนแล้ว บ้านห้วงบอนยังได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่เข้ามาช่วยสนับสนุนความต้องการของชุมชนที่ต้องการที่อยู่อาศัยของลูกปูที่อยู่คงทนกว่าเถาว์กระฉอดที่ชุมชนสามารถทำได้เอง จึงได้รับการสนับสนุนซั้งเชือกมาตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา

Scroll to Top