แถลงการณ์ เครือข่ายสมาคมสตรีประมงพื้นบ้าน
รวมพลังปกป้องสิทธิประมงพื้นบ้าน สิทธิสตรี
เนื่องในโอกาสวันสตรีสากลโลก เพื่อสร้างพื้นที่ประชาธิปไตย คุ้มครองปกป้อง และรักษา สิทธิประมงพื้นบ้าน สิทธิสตรี เครือข่ายสมาคมสตรีประมงพื้นบ้านและพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ แสดงความสามัคคี สะท้อนความต้องการมีส่วนร่วมในการปรับปรุงพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ …. เพื่อให้กฎหมายที่ใช้ในการการบริหารการประมงบรรลุเป้าหมายการจัดการประมงที่ยั่งยืน บนหลักสิทธิมนุษยชน มีความเป็นธรรม มีหลักประกันสร้างความมั่นคงทางอาหารและขจัดความยากจน
ในโอกาสที่ ที่มีการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ พ.ศ. …. ซึ่งต้องจัดการกับความต้องการเฉพาะของชาวประมงกลุ่มต่างๆโดยนำเอาร่างของคณะรัฐมนตรี นำมาพิจารณาในรัฐสภา เครือข่ายประมงพื้นบ้านทั้งหญิงชายพบมีสาระส่อให้เกิดปัญหาต่อชาวประมงพื้นบ้าน ที่มีจำนวนมากกว่า๗๐ เปอร์เซนต์ในภาคประมง อันจะสร้างปัญหาเพิ่มมากขึ้นแก่ผู้หญิงประมงที่มีจำนวนไม่น้อยกว่าครึ่งของชาวประมง ซึ่งปัจจุบันถูกละเลยไร้ตัวตนอยู่แล้ว อันจะส่งผลขยายความเหลื่อมล้ำ ความไม่เป็นธรรม การไม่ได้ใส่ใจรับรองสิทธิชุมชน รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในการเสนอความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจปรับปรุงแก้ไขกฏหมายฉบับนี้ แม้นในเชิงประชาสัมพันธ์จะได้สื่อสารให้ความสำคัญกับชาวประมงพื้นบ้าน
เนื่องในโอกาส วันสตรีสากล วันนี้ เราขอย้ำถึงความจำเป็น ในการ เพิ่มการรับรู้และการมีตัวตนของผู้หญิงประมง
เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดคำจำกัดความที่ครอบคลุมการประมงพื้นบ้าน ประมงขนาดเล็ก เป็นทางการให้ครอบคลุมสะท้อนวิถีการทำการประมงที่ไม่ใช่เพียงการกำหนดขนาดเรือแต่ครอบคลุมการใช้ชนิดเครืองมือทำการประมงเลือกชนิด ตามฤดูกาล รวมถึง การแปรรูป การตลาด การร่วมใส่ใจดูแลรักษาฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของทะเล
จากสถานการณ์ดังกล่าว พบว่าการแก้ไขปรับปรุงบทพระราชบัญญัติของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. ๒๕๕๘ อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อประมงพื้นบ้านและประมงขนาดเล็กดังต่อไปนี้
- ร่างกฎหมาย ได้ ยกเลิกข้อกำหนดวัตถุประสงค์ “เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น” เป็นข้อกำหนดที่ ลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้านหรือการประมงขนาดเล็กลง ทั้งที่ทุกฝ่ายทราบดีว่า ชาวประมพื้นบ้าน กับ ชาวประมงพาณิชย์ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ควรมีมาตรการ ปกป้อง ส่งเสริม พัฒนาขีดความสามารถชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเอาไว้เป็นการเฉพาะที่มีมาตรการแตกต่างจากการประมงพาณิชย์ กลายเป็นสามารถช่วยเหลือการประมงแบบรวมๆ โดยกำหนดให้ส่งเสริมการประมงพาณิชย์คู่ไปกับประมงพื้นบ้านและประมงน้ำจืด ไม่ต้องปกป้องชุมชนท้องถิ่น, กำหนดให้ส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำไทย กำหนดให้รัฐบาล ต้องมีแผนในการส่งเสริมการประมงในน่านน้ำ, มีแผนส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำ, มีแผนส่งเสริมการเพาะเลี้ยง, มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง แต่ไม่มี “แผนการส่งเสริมการประมงพื้นบ้าน” ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการประมงทั้งหมด
- ร่างกฎหมายใหม่กำหนดให้สามารถลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกให้น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล โดยที่การกำหนดให้มี “เขตทะเลชายฝั่ง” ก็เพื่อห้ามทำการประมงพาณิชย์ไม่ให้เข้าทำประมงใกล้เขตทะเลชายฝั่งมากเกินไป และให้เป็นเขตรับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดไปด้วย เมื่อมีการจงใจแก้ไขเขตทะเลชายฝั่งให้สามารถ หดแคบลงได้น้อยกว่า 1.5 ไมล์ทะเล (น้อยกว่า 2,800 เมตร) ก็เพื่อเปิดช่องให้ทำการประมงพาณิชย์สามารถเข้าทำประมงใกล้เขตชายฝั่งได้เพิ่มอีก เป็นการถดถอยล้าหลังไปยิ่งกว่า ปี 2515 (ประกาศ ห้ามอวนลากอวนรุนเข้า3,000 เมตร) และเป็นการลดเขตอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของคณะกรรมการประมงประจำจังหวัด ลงด้วย
- ร่างกฎหมายประมงใหม่ เปิดให้กลุ่มทุนประมงพาณิชย์เข้าแทรกแซงกลืนสถานะ “ชาวประมงพื้นบ้าน” โดยเปิดช่องให้ นักลงทุนที่ทำประมง “อวนลากคู่, อวนลากเดี่ยว.อวนล้อมจับ, อวนปั่นไฟจับปลากะตัก,อวนล้อมจับกะตัก ,เรือคราดทุกชนิด ที่ใช้กับเรือต่ำกว่าสิบตันกรอส “ให้ถือเป็นชาวประมงพื้นบ้าน” และสามารถมีใบอนุญาตประมงดังกล่าว ได้ ไม่จำกัดจำนวน โดยจงใจตัดคำว่า “จะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจํานวนที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดมิได้” ที่มีในกฎหมายเดิมทิ้งไป
- ร่างกฎหมายประมงใหม่เพิ่มสัดส่วนราชการในกรรมการจังหวัด กรรมการภาคประชาชนให้มาจากการแต่งตั้ง ไม่ต้องเลือกตั้ง โดยได้เพิ่ม หัวหน้าตำรวจในจังหวัด และ ทหารที่รับผิดชอบกฎหมาย ศร.ชล. เข้ามาเป็นกรรมการประมงประจำจังหวัด ส่วนการแต่งตั้งกรรมการจากภาคประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในจังหวัด ระบุให้เป็นอำนาจโดยตรงของผู้ว่าราชการจังหวัด โดยไม่มีหลักประกันว่าจะต้องมีการสรรหาคัดสรรอย่างไร
- ร่างกฎหมายประมงใหม่ ปล่อยผี “อวนล้อมปั่นไฟด้วยอวนตาถี่” ให้ทำประมงในเวลากลางคืนได้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประมงไทย เครื่องมืออวนตาถี่ที่ตีวงล้อมจับ เป็นเครื่องมือที่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน และพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างหนัก ประเทศไทยห้ามใช้โดยเด็ดขาดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2526 และยังยืนยันกำหนดไว้ใน กฎหมายประมงปี 2558 “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืน” ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่ ได้ปล่อยผีอวนล้อมปั่นไฟให้ทำประมงได้ โดยเริ่มให้ทำในเขต 12 ไมล์ทะเล นับจากแนวทะเลชายฝั่ง โดยที่พื้นที่ดังกล่าว เป็นเส้นทางเดิน และเป็นแหล่งสัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์น้ำหายาก และเป็นพื้นที่ทำประมงพื้นบ้านอย่างมีนัยยะสำคัญ
- ร่างกฎหมายประมงใหม่ เปิดช่องนำเรือประมงพาณิชย์ สามารถออกไปได้โดยไม่ต้องแจ้งเข้าแจ้งออก โดยกฎหมายเดิม กำหนดให้เรือประมงพาณิชย์ต้องแจ้งเข้าแจ้งออกทุกครั้ง เวลานำเรือประมงออกไปหรือกลับเข้ามา เพื่อป้องกัน “การทำประมงผี” ตรวจสอบไม่ได้ แต่ ร่างกฎหมายฉบับใหม่ แก้ไขว่าให้แจ้งเข้าแจ้งออก เฉพาะเวลาต้องการ “ออกไปทำการประมง , ทั้งที่ในทางปฏิบัติการอ้างว่า ตนไม่ได้ออกไปทำประมง แต่ไปลักลอบทำประมง จับปลาได้มาแล้ว กลับเข้ามาก็ไม่ต้องแจ้งตรวจ และไม่ต้องตรวจสอบอีก ลักษณะเช่นนี้ จะเกิด “เรือประมงผี” มาแย่งจับสัตว์น้ำและจะเกิดผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน โดยตรง
- ยกเลิกการจำคุก ลดอัตราค่าปรับในการทำผิด และให้ประกันเรือออกไปทำประมงได้ต่อไป ทั้งที่ กฎหมายประมงฉบับ2558 ได้ยกเลิกการลงโทษ “จำคุก” ทั้งหมดไปแล้ว และเปลี่ยนเป็นลงโทษด้วยการ “ปรับ” ในอัตราที่สูงขึ้นแทนอย่างเดียว ร่างกฎหมายประมงใหม่ กำหนดให้ลดค่าปรับลง เมื่อจ่ายค่าปรับแล้ว ให้ถือว่ายุติคดี กล่าวคือไม่ต้องส่งฟ้องศาล ไม่ต้องรับโทษริบเรือ หรือใดๆ อีก และ ให้สามารถญาติ ที่เป็น “ข้าราชการ” หรือ สินทรัพย์ ไป “ประกันเรือ” ออกไปทำประมงได้ปกติ โดยไม่ต้องถูกกักไว้ ระหว่างรอค่าปรับ ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมการทำความผิด ไม่สนใจผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้าน อีกต่อไป
จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น เครือข่ายสมาคมสตรีประมงพื้นบ้านได้มารวมตัวกันเพื่อเรียกร้อง ยืนยันเจตนารมณ์ของชาวประมงพื้นบ้านว่า “เราต้องการให้การแก้ไขกฎหมายประมงโดยคำนึงถึงวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน แก้ไขปัญหาของชาวประมงพื้นบ้าน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงประมงในการรมีส่วนร่วมปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย”
นับแต่วันนี้เป็นต้นไป เราจะต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้อาชีพประมงพื้นบ้านถูกทำลาย และทรัพยากรถูกทำลาย” เราจะรวมพลังปกป้องถิ่นฐานอาชีพของเรา เพื่อให้เห็นว่ายังมีอาชีพประมงพื้นบ้านอยู่ในสังคมไทย
การชุมนุมในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้น ขอให้พี่น้องทั้งหลายเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อม เราพร้อมยืนหยัด ขับเคลื่อน รวมพลังเพื่อแก้ไขกฎหมายประมง โดยเคารพสิทธิของเราชาวประมงพื้นบ้าน สิทธิผูู้หญิงประมงอย่างถึงที่สุด