การปรับตัวของชุมชนชายฝั่งบนฐานระบบนิเวศ : จากต้นน้ำถึงชายฝั่งทะเลเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ชายฝั่งทะเล จังหวัดตรัง

นางสาวดาวรรณ สันหลี
มูลนิธิอันดามัน

พื้นที่ดำเนินงาน   
ลักษณะเด่นของพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินโครงการเพิ่มศักยภาพชุมชนชายฝั่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จังหวัดตรัง (INCA) คือมีทั้งหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนเกาะกลางทะเล จำนวน  2 เกาะได้แก่บ้านโคกสะท้อนหมู่ที่ 1 บ้านบาตูปูเต๊ะ หมู่ที่ 4 บ้านหลังเขาหมู่ที่  5 และบ้านทรายแก้ว หมู่ที่  7 ซึ่งทั้ง 4 หมู่บ้านตั้งอยู่บนเกาะลิบง และอีก 1 เกาะ คือบ้านเกาะมุกด์ หมู่ที่ 2  สำหรับบ้านมดตะนอย หมู่ที่ 3 ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล  ทั้งหมดอยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง  ประชากรส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) นับถือศาสนาอิสลาม ประกอบอาชีพทำประมง ซึ่งเป็นประมงพื้นบ้าน ทำสวนยางพารา รับจ้าง และอื่นๆ 

ความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพที่ 1 ความเสี่ยงและความเปราะบางจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพื้นที่จังหวัดตรัง

จากการวิเคราะห์ความเสี่ยงความเปราะบางและศักยภาพชุมชนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่เป้าหมาย ร่วมกับชุมชน พบว่าประชาชนในพื้นที่เริ่มตระหนักและรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตประจำวัน ที่เห็นได้อย่างชัดเจน (ภาพที่ 1) ได้แก่ปัญหาพายุ คลื่นลมมรสุมในช่วงฤดูฝนที่รุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต สภาพอากาศที่แปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ส่งผลให้ไม่สามารถประกอบอาชีพประมงและไม่สามารถกรีดยางพาราได้ รวมถึงเกิดภาวะความเสี่ยงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินในการประกอบอาชีพทางทะเล ส่วนในช่วงหน้าแล้งก็ประสบปัญหาน้ำที่ใช้อุปโภคและบริโภคขาดแคลน

ปัญหาน้ำท่วม ดินถล่มบนพื้นที่เกาะ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นของโครงการ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในอดีตและเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านทรัพย์สินและที่อยู่อาศัยไม่น้อยไปกว่าปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ที่ยังคงรุกล้ำ ทำลายบ้านเรือน ถนน สิ่งปลูกสร้าง และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในทุกพื้นที่

ส่วนปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้แก่ระบบนิเวศหญ้าทะเล  ป่าชายเลน และปะการัง ยังเป็นปัญหาที่ชุมชนให้ความสำคัญเนื่องจากพบว่าหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจากกิจกรรมขนส่งทางทะเล ที่นับวันยิ่งเพิ่มจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังมีการลักลอบใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายและทำลายพันธุ์สัตว์น้ำและสัตว์คุ้มครองเช่นพะยูน ฝูงใหญ่ที่สุดในจังหวัดตรัง ที่มีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณนี้  ซึ่งชุมชนตระหนักว่าหากทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งถูกทำลายก็จะกระทบต่ออาชีพ รายได้และความมั่นคงทางด้านอาหารในอนาคต

การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศพื้นที่ชุมชนชายฝั่ง จังหวัดตรัง

จากการดำเนินโครงการร่วมกับชุมชน ผ่านกระบวนการวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาควบคู่กับการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเริ่มจากการศึกษาดูงานเรื่องการปลูกพืชร่วมยางพารา และการจัดทำฝายชะลอน้ำ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องเครือข่ายชุมชนตะโหมด จังหวัดพัทลุง เพื่อแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำถึงชายฝั่งทะเล ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพทางเลือกให้กับกลุ่มสตรีและสมาชิกในชุมชน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าต้นน้ำ   ที่ถูกทำลายจากการทำสวนยางพาราบนพื้นที่ลาดชัน ผ่านกิจกรรมส่งเสริมการปลูกพืชร่วมยางพารา  การจัดทำฝายชะลอน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำในลำคลองในช่วงฤดูฝน เพื่อคงความชุ่มชื้นแก่พืชพันธุ์  การปลูกหญ้าแฝกตามพื้นที่ลาดชัน ริมตลิ่ง และพื้นที่เกษตร เพื่อป้องกันดินถล่ม  การอนุรักษ์หญ้าทะเลและหอยชักตีน และการเฝ้าระวังการลักลอบใช้เครื่องมือที่ผิดกฎหมาย (ภาพที่ 2)

แนวทางที่ใช้ในการทำงานจะเน้นการเพิ่มความตระหนักและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ของสมาชิกในชุมชนโดยเฉพาะ กลุ่มผู้หญิงและคนชายขอบในด้านปัญหาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และนอกจากนี้โครงการยังได้ใส่ใจยกระดับความสามารถให้สมาชิกในชุมชน สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต) รวมทั้งผู้หญิงให้ได้ร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศน์ในรูปแบบต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่นโดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภาพที่ 2 กิจกรรมลดความเสี่ยงและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ชายฝั่งทะเล จ.ตรัง

ผลที่ได้จากการดำเนินโครงการฯ
หากถามว่าชุมชนชายฝั่งในพื้นที่เป้าหมายได้อะไรจากโครงการนี้ ก็พบว่าชุมชนเกิดความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นและเห็นถึงความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะต้องปรับตัวและรับมือกับการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต่างจากในอดีตที่ผ่านมา รวมทั้งยังตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อคนรุ่นหลัง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงในชุมชนชายฝั่งทั้ง 3 พื้นที่ เข้ามามีบทบาทสำคัญในด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงชายฝั่งทะเล ควบคู่กับการพัฒนาอาชีพทางเลือก เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้ ควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

Scroll to Top