เขียนโดย กนกพรรณ สุพิทักษ์
มูลนิธิชีวิตไท
ในช่วงเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ เป็นการลงพื้นที่เพื่อสรุปกกิจกรรม การดำเนินงานตามแผนที่ผ่านมาในระยะเวลา 1 ปี และวางแผนสำหรับช่วงเวลาที่เหลือจนกระทั่งเดือนกันยายน 2556 ซึ่งประชุมปรึกษาหารือกันสองส่วนทั้งในส่วนของรายพื้นที่ และสรุปรวม 3 ตำบล ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวข้าวในนาที่กำลังสุกได้ที่ของชาวนา
การทดลองทำนาข้าวทนน้ำท่วม(นาปี) พันธุ์ข้าวช่อพร้าว ครั้งที่ 2
หลังจากช่วงเวลาที่ฝนมาก หรือช่วงเวลาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่จองถนน ผ่านไปในเดือนธันวาคม ซึ่งพบว่าปี
พ.ศ. 2555 นี้มีปริมาณฝนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ประกอบกับการขังของน้ำเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ เนื่องจากมีการขุดลอกคลองตลอดสาย และเปิดทางน้ำไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลาบริเวณบ้านจงเก จึงทำให้น้ำไหลสะดวกไม่ขังในนาข้าวนานจนข้าวเสียหาย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การเลื่อนเวลาทำนาให้เร็วขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2554 ทำให้ข้าวได้รับปริมาณน้ำที่พอดีกับการเจริญเติบโต การทำนาทดลองในครั้งนี้เริ่มทำในช่วงต้นฤดูกาลเสมือนในอดีต
ชาวนาเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ใครเริ่มทำนาก่อนข้าวก็จะสุกก่อน การเก็บเกี่ยวข้าวช่อพร้าวของสมาชิกร่วมทดลอง เฉลี่ยผลผลิต 450 – 500 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งจากการเปรียบเทียบในปริมาณที่เท่ากัน ข้าวช่อพร้าวมีน้ำหนักดีกว่าข้าวเล็บนก ลำต้นยืดแข็ง สูงขึ้นตามความสูงของน้ำ และข้าวเปลือกยังขายได้ในราคาเดียวกัน ในส่วนของรสชาติข้าวช่อพร้าว จะมีความมันและนวลกว่าข้าวเล็บนก ซึ่งสมาชิกได้เก็บส่วนหนึ่งไว้บริโภคในครัวเรือน บางคนก็ขายหลังจากเก็บเกี่ยวทั้งหมด และส่วนหนึ่งเก็บไว้เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ต่อไป
ในส่วนของพื้นที่ทดลองทำนารวมนั้น ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พื้นที่ปลูกข้าวช่อพร้าว 1 ไร่ 2 งาน สมาชิกได้ร่วมมือกันเกี่ยวแบบเอาแรง มีการแข่งขันเก็บข้าวโดยใช้แกะ หรือ แกละ เก็บข้าวทีละรวงมีการรับประทานอาหารร่วมกัน รวมได้ข้าวช่อพร้าว 551 เรียง หรือ ประมาณ 500 กิโลกรัม ซึ่งได้ทำการแจกจ่ายให้กับสมาชิก เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์ฤดูกาลทำนาปีครั้งต่อไป คนละ 2 ไร่ หรือ 30 กิโลกรัม ซึ่งนอกจากสมาชิกที่เข้าร่วมการทดลองปลูกข้าวช่อพร้าวแล้วนั่น ก็ยังมีชาวนา 2 – 3 คน ที่ไม่ได้เข้าร่วมทดลองหันมาให้ความสนใจปลูกข้าวช่อพร้าวในพื้นที่ของตนเองด้วยเช่นกัน ซึ่งผลการทดลอง เป็นที่พอใจของสมาชิกทั้งลักษณะของต้นข้าว ผลผลิต และความทนทาน ลักษณะรวงเก็บง่าย คอรวงแข็ง ทำให้การทำนาในครั้งต่อไปจะขยายพื้นที่การปลูกด้วยตนเอง
ความมั่นใจในพันธุ์ช่อพร้าวส่วนหนึ่งมาจากที่ส่วนใหญ่ชาวนาเคยปลูกข้าวพันธุ์นี้มาก่อนแล้วในอดีต แต่ได้ทิ้งไปและเปลี่ยนมาปลูกข้าวเล็บนกแทนจนกระทั่งปัจจุบัน และเมื่อหันกลับมาทดลองปลูกอีกครั้ง จึงมั่นใจว่าข้าวพันธุ์ช่อพร้าวเหมาะสมกับพื้นที่นาลุ่มของจองถนน เนื่องจากเป็นข้าวขึ้นน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน
ในพื้นที่ หมู่ 5 เป็นพื้นที่ติดทะเลสาบอีกด้านหนึ่ง มีพื้นที่นาทดลองของสมาชิกอยู่ ซึ่งเป็นนาลึกและต่ำกว่าระดับถนนประมาณ 2 เมตร ต้องใช้กะละมัง หรือเรือลอยในน้ำเพื่อวางเรียงข้าวที่เก็บได้ ซึ่งจากการนำต้นข้าวมาวัดระดับความสูง พบว่ามีความสูงประมาณ 2.50 เมตร
รายงานจากกรอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ” ช่วงวันที่ 22 – 28 กุมภาพันธ์ มีลมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรงพัดเข้าปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ประกอบกับมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่นและมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ตรัง และสตูล ทำให้ฝนตกอย่างต่อเนื่องในจังหวัดพัทลุง ก่อให้เกิดความเสียหายกับข้าวสุกแล้วที่รอการเก็บเกี่ยวในนา ทำให้มีพื้นที่เสียหายในจังหวัดพัทลุง ทั้งยางพารา และนา ประมาณ 50,000 ไร่ ในพื้นที่ 6 อำเภอ ” ซึ่งในนาทดลองของสมาชิกที่เก็บเกี่ยวไม่ทันมีอยู่ 3 ราย เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม นาลึก ใกล้ทะเลสาบ ต้องใช้แรงงานคนเก็บเกี่ยวจึงเก็บเกี่ยวไม่ทัน ประกอบกับช่วงฝนตกนอกฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง 2-3 วัน ทำให้น้ำฝนที่ตกมาขังในพื้นที่ และน้ำทะเลหนุน ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย น้ำท่วมขัง รวงข้าวจมน้ำ เกิดข้าวงอกในรวง เปลือกเปลี่ยนเป็นสีดำเมื่อแช่น้ำหลายวัน หลังจากเก็บกี่ยวและนำมาสี ข้าวจะกลายเป็นข้าวหัก สีได้ปลายข้าว เป็นผลผลิตคุณภาพต่ำ ต้องให้เป็ดไก่กิน ขายไม่ได้ราคา
ซึ่งแผนงานในไตรมาสต่อไป คือ
- แปลงทดลองปลูกข้าวพื้นบ้าน ในนาปรังเพื่อหาพันธุ์พื้นบ้านที่เหมาะสมกับสภาพอากาศ
- การจัดการน้ำในแปลงนาของตนเอง การปรับคันนา และปรับพื้นนาให้เหมาะสมกับการกักเก็บน้ำฝน และการกระจายน้ำทั่วแปลง ในช่วงดวลาที่ปริมาณน้ำฝนมีน้อย
- การจัดเวทีสรุปบทเรียนการทำนาทนน้ำท่วมร่วมกับศูนย์วิจัยข้าวพัทลุง สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงาน
เกษตรจังหวัด และเครือข่าย เพื่อสรุปบทเรียน ผลการทดลอง และการหาแนวทางการร่วมมือเพื่อปกป้องพื้นที่นาต่อไป