วันนี้ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตราด พร้อมกับประมงพื้นบ้านทั่วประเทศนัดรวมพลยื่นข้อกังวลต่อการการแก้ไขกฏหมายประมง โดยมี ก่อนที่พรุ่งนี้จะมีการประชุมกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพรบ.แก้ไขพรก.ประมง… โดยมีปกครองจังหวัด และตัวแทน สส จังหวัดตราด เป็นตัวแทนรับหนังสือ
เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๖๗ ชาวประมงพื้นบ้าน ใน ๑๕ จังหวัดชายทะเลทั่วประเทศไทย ส่งตัวแทนเข้ายื่นหนังสือ ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ พ.ศ. …. ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดทั้งเช้าและบ่าย โดยในหนังสือ ระบุ ขอให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด เร่ง ส่งหนังสือและเอกสารข้อกังวลและข้อเสนอต่อการแก้ไขกฎหมายประมงฯของชาวประมงพื้นบ้าน ถึงสภาผู้แทนราษฎร โดยเร็ว
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบในหลักการ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.๒๕๕๘ พ.ศ. …. ตามที่คณะรัฐมนตรี เสนอ พร้อมกับฉบับของพรรคการเมืองต่างๆ อีก ๗ ฉบับ และได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติฯดังกล่าว จำนวน ๓๗ คน ไปพิจารณารายละเอียด โดยใช้ร่างฉบับของคณะรัฐมนตรีเป็นฉบับหลัก ในการพิจารณา และมีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วสองครั้ง
นายสะมะแอ เจะมูดอ ผู้แทนชุมชนประมงในจังหวัดปัตตานี กล่าวว่า วันนี้ตนและตัวแทนชาวประมงพื้นบ้านได้เข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ถึงสภาผู้แทนราษฎร ในครั้งนี้ เพราะได้รับทราบเนื้อหา ร่างกฎหมายประมง ใหม่ฯ โดยเฉพาะฉบับร่างของคณะรัฐมนตรี ได้มีแก้ไขใหม่ โดยอ้างว่า แก้ไขเพื่อประมงพื้นบ้าน แต่ กลับ มีการตัดข้อความสำคัญที่กฎหมายประมงเดิมเคยระบุวัตถุประสงค์ ไว้ว่า “เพื่อปกป้องคุ้มครองและให้ความช่วยเหลือหรือสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่น” นั้น ตนและชาวประมงพื้นบ้านปัตตานี เห็นว่า เป็นการลดความสำคัญในการช่วยเหลือการประมงพื้นบ้านหรือการประมงขนาดเล็กลง ทั้งที่ทุกฝ่ายทราบดีว่า ชาวประมงพื้นบ้าน กับ ชาวประมงพาณิชย์ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ประเทศไทยควรมีมาตรการ ปกป้อง ส่งเสริม พัฒนาขีดความสามารถชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเอาไว้เป็นการเฉพาะที่มีมาตรการแตกต่างจากการประมงพาณิชย์
นายสะมะแอ กล่าวอีกว่า “การที่มีการแก้ไขโดยการตัดข้อความนี้ ออก เท่ากับว่า ประเทศไทยไม่ต้องการ คุ้มครองและสนับสนุนชาวประมงพื้นบ้านอีกต่อไป เปลี่ยนเป็นให้การช่วยเหลือการประมงรวมๆไปกับการประมงพาณิชย์ ที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ไม่ต่างกับการให้คนตัวใหญ่กับคนตัวเล็กแข่งขันกันอย่างไม่เป็นธรรม ตั้งแต่ต้น”
ด้านนายวิรชัช เจ๊ะเหล็ม ชาวประมงพื้นบ้านจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือ ณ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช ในวันเดียวกัน (วันที่ ๑๓ มีนาคม๒๕๖๗) กล่าวว่า “การแก้ไขกฎหมายประมงในครั้งนี้ หลายมาตราเป็นการจงใจทำลายชาวประมงพื้นบ้าน ด้วยการเปิดให้ลดเขตทะเลชายฝั่งลงได้อีกต่ำกว่า ๑.๕ ไมล์ทะเล ซึ่งต่ำกว่า ๒๘๐๐ เมตร น้อยกว่า การกำหนดเขตห้ามอวนลากอวนรุนที่ ๓,๐๐๐ เมตร ในอดีตเสียอีก ถือว่าเป็นการออกกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้ชาวประมงพาณิชย์ เกินไป โดยมีผลทำให้ ประมงพาณิชย์ทุกประเภทสามารถเข้ามาทำประมงด้วยเครื่องมือหนัก ในเขตชายฝั่งได้ ทั้งที่เขตทะเลชายฝั่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญที่สุดของทะเลไทย” และยังแก้กฎหมายลดโทษสำหรับผู้กระทำผิดการประมงลงอีกนั้น ยิ่งทำให้ผู้ทำการประมงผิดกฎหมายย่ามใจ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย และจะเกิดผลร้ายทำลายแหล่งอาหารของชุมชนท้องถิ่น แน่นอน ในอนาคต” นายวิรชัช กล่าวย้ำ
นายจิรศักดิ์ มีฤทธิ์ ชาวประมงพื้นบ้าน จากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้เดินทางเข้าร่วมการยื่นหนังสือที่ ศาลากลางจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวันเดียวกัน กล่าวว่า “ในขณะที่กฎหมายยกเลิกการคุ้มครองช่วยเหลือประมงพื้นบ้าน โดยอ้างว่าจะส่งเสริมไปพร้อมกับการประมงอื่นๆ แต่ตนอ่านแล้ว พบว่า ในร่างกฎหมายฉบับเดียวกัน กลับกำหนดให้ส่งเสริมการประมงพาณิชย์คู่ไปกับประมงพื้นบ้านและประมงน้ำจืด ไม่ต้องปกป้องชุมชนท้องถิ่น, กำหนดให้ส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำไทย กำหนดให้รัฐบาล ต้องมีแผนในการส่งเสริมการประมงในน่านน้ำ, กำหนดให้มีแผนส่งเสริมการประมงนอกน่านน้ำ, กำหนดให้มีแผนส่งเสริมการเพาะเลี้ยง, ให้มีแผนส่งเสริมอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการประมง แต่กลับไม่มี “แผนการส่งเสริมการประมงพื้นบ้าน” ทั้งที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในบรรดาผู้ประกอบการประมงทั้งหมด แต่อย่างใด
ทางด้านหน้าศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสตูล ศาลากลางจังหวัดสตูล นายเหลด เมงไซ หนึ่งในชาวประมงพื้นบ้านที่เดินทางเข้ายื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า นอกจากกฎหมาย ยกเลิกข้อความให้ การคุ้มครองประมงพื้นบ้านและชุมชนประมงท้องถิ่นแล้ว สิ่งที่ตนเจ็บปวดที่สุด คือการ “แก้ไขกฎหมายเปิดช่องให้นายทุนสามารถลงทุนทำการประมงด้วยเรือขนาดเล็ก และสวมรอยเป็น “ประมงพื้นบ้าน” แทนชาวประมงพื้นบ้านในท้องถิ่น เสียเอง” เท่ากับเป็นการโดยเปิดช่องให้ นักลงทุน สามารถลงทุนทำประมงใช้ “อวนลากคู่, อวนลากเดี่ยว.อวนล้อมจับ, อวนปั่นไฟจับปลากะตัก,อวนล้อมจับกะตัก ,เรือคราดทุกชนิด ประกอบกับเรือต่ำกว่าสิบตันกรอส ได้ โดยต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็น “ประมงพื้นบ้าน” แถมยังสามารถมีใบอนุญาตประมงดังกล่าว ได้ ไม่จำกัดจำนวน โดยจงใจตัดคำว่า “จะออกใบอนุญาตให้แก่บุคคลใดเกินจํานวนที่รัฐมนตรีประกาศกําหนดมิได้” ที่มีอยู่ในกฎหมายเดิมทิ้งไป
ในวันเดียวกัน นายแสวง ขุนอาจ ชาวประมงพื้นบ้านจังหวัดตรัง เข้าร่วมการยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ถึงสภาผู้แทนราษฎร ณ หน้าศาลากลางจังหวัดตรัง กล่าวว่า อีกสิ่งหนึ่งที่น่าตกใจอย่างมาก สำหรับ ร่างกฎหมายประมงใหม่ ที่กำลังอยู่ในสภา คือ มีการ ปล่อยผี “อวนล้อมปั่นไฟด้วยอวนตาถี่” ให้ทำประมงในเวลากลางคืนได้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ประมงไทย
นายแสวง กล่าวว่า เครื่องมืออวนตาถี่ที่ตีวงล้อมจับ เป็นเครื่องมือที่เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรสัตว์น้ำวัยอ่อน และพันธ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจอย่างหนัก ประเทศไทยห้ามใช้โดยเด็ดขาดมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2526 พวกตนและชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศเคยเรียกร้องให้ยกเลิกการจับสัตว์น้ำด้วยอวนตาถี่ในเวลากลางคืน มาต่อเนื่อง ตั้งแต่สมัย ปี ๒๕๔๐ เป็นต้นมา และในกฎหมายประมงปี 2558 ได้กำหนด “ห้ามมิให้ผู้ใดใช้เครื่องมืออวนล้อมจับที่มีช่องตาอวนเล็กกว่าสองจุดห้าเซนติเมตร ทําการประมงในเวลากลางคืน” แต่ ร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่รอบนี้ คณะรัฐมนตรี กลับเสนอให้รัฐสภาแก้กฎหมายโดยซ่อนเนื้อหา “ปล่อยผีอวนล้อมปั่นไฟให้ทำประมง” แม้จะอ้างว่าให้ทำในเขต 12 ไมล์ทะเล นับจากแนวทะเลชายฝั่ง แต่พื้นที่ดังกล่าว เป็นเส้นทางเดินสัตว์น้ำ และหลายจุดเป็นแหล่งสัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์น้ำหายาก และเป็นพื้นที่ทำประมงพื้นบ้าน การแก้กฎหมายเช่นนี้ ยิ่งทำลายพันธ์สัตว์น้ำ ทำลายเศรษฐกิจการประมงให้ทรุดหนักไปอีก
อนึ่ง แหล่งข่าวในเครือข่ายประมงพื้นบ้าน แจ้งว่า หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา หรือมีแนวโน้มว่า คณะกรรมาธิการฯยืนยันตามร่างของคณะรัฐมนตรี จะมีการรวมตัวชาวประมงพื้นบ้านทั่วประเทศ เดินทางไปร้องเรียนยื่นหนังสือที่ รัฐสภาพร้อมกัน อีกครั้งเร็วๆ นี้