บทเรียนการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งกรณีซั้งเชือก กลุ่มองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่น ตำบลหาดเล็ก

ประชาชนส่วนใหญ่ตำบลหาดเล็กประกอบอาชีพประมงรายได้หลักมาจาก ปลากระตัก กุ้ง ปลาหมึก ปูม้า การเพิ่มขึ้นของเรือและเครื่องมือประมงรวมทั้งการใช้เครื่อมือประมงที่จับสัตว์น้ำทุกขนาดส่งผลให้สัตว์น้ำทะเลลดลง กลุ่มองค์กรชุมชนประมงท้องถิ่นตำบลหาดเล็ก ต้องการให้อาชีพประมงอยู่ได้ จึงรวมกลุ่มในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากร และทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ปลูกป่าชายเลน ปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำทุก 2-3 ปี ห้ามเรือปั่นไฟทำประมงชายฝั่ง มีการทำบ้านปลา และทำซั้งเชือก เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา ซึ่งมีการพัฒนารูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูสัตว์น้ำ เนื่องจากซั้งเชือกเหมาะกับนิเวศน์ของตำบลหาดเล็กมากกว่าหญ้าทะเลเทียมเพราะดินเลนจะกลับหมด

พัฒนาการทำซั้งเชือกและบทเรียน
1.ยุคเริ่มต้น ปี 2556 ผู้นำชาวประมงเริ่มทำบ้านปลา โดยนำเรือประมงที่ใช้งานไม่ได้แล้วทิ้งในทะเลเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของปลา จากนั้นได้เริ่มทำบ้านปลาในโดยประยุกต์จากซั้งจับปลาจาระเม็ดของชาวประมง โดยลำใช้ไม้ไผ่ปักลงทะเลและผูกทางมะพร้าวกับไม้ไผ่ให้ลอยผิวน้ำเป็นร่มเงาที่อยู่อาศัยของปลา ข้อเสียรูปแบบนี้คือ ไม้ไผ่ผุง่ายและการใช้งานได้เพียง 1 ปี ปี 2558 จึงประยุกต์ใช้เชือกแทนไม้ไผ่และผูกทุ่นลอย
ผลที่เกิดขึ้นและบทเรียน พบว่ามีปลาหมึกมาวางไข่ที่เชือกจำนวนมาก เป็นทั้งที่อาศัยของปลาและปลาหมึก แต่มีปัญหาคนตัดเชือกทุ่นลอย เนื่องจากกีดขวางการทำประมง รวมทั้งถูกเรือลากแขกลากติดไปกับเรือ ทำให้เชือกจมลงก้นทะเลใช้งานไม่ได้ และไม่มีการซ่อมแซมซั้งให้ใช้งานได้

2.ยุคปัจจุบัน ปี 2559 ซั้งเชือกทุ่นจมสร้างบ้านปลาธนาคารหมึก ดัดแปลงจากซั้งเชือกแบบเดิม แต่ทำให้ทุ่นจมลงต่ำกว่าผิวน้ำ 4 เมตร เพื่อแก้ปัญหาทุ่นถูกทำลาย โดยวางซั้งเชือกที่ระดับความลึกน้ำทะเล 9 เมตร แต่ทำซึ้งเชือกยาวเพียง 5 เมตร   และผูกทางมะพร้าวหรือกระสอบตัดเป็นผืนยาวตรงทุ่นลอยเพื่อเป็นร่มเงาให้สัตว์น้ำ ส่วนที่อยู่อาศัยของปลาและที่วางไข่ใช้เชือกเส้นเล็กๆ ผูกประมาณ 100 เส้น ไม่ต้องคลี่กระแสน้ำจะตีเชือกเป็นเส้นฝอยเอง รวมทั้งพัฒนาให้มีที่อยู่ของปลาหมึกโดยผูกพีวีซีขนาด 2 นิ้ว ยาว 40 เซนติเมตรกับหางเชือกประมาณจุดละ 10 ท่อ เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของปลาหมึก โดยจุดวางซั้งเชือกวางห่างกันประมาณ 8-10 เมตร วางตั้งแต่หน้าท่าเรือ หมู่ 1 ถึงหมู่ 5  ต้นทุนซั้งเชือกรูปแบบนี้ประมาณ 1,190 บาทต่อเส้น
ผลที่เกิดขึ้นและบทเรียน พบว่าบริเวณทางมะพร้าวและกระสอบมีลูกปลามาอาศัยอยู่ ทั้งปลาอินทรีย์ ปลาจาระเมด ปลาสละ ปลาหลังเขียว ส่วนที่เป็นหางเชือกห่างจากทุ่น 3 เมตร มีปลาหมึกกล้วย หมึกหอม มาวางไข่ เป็นอาหารของปลาจาระเม็ด หางเชือกจุดที่ห่างจากทุ่น 4 เมตรมีลูกกุ้ง ปู  ปลาหมึกกระดองมาวางไข่  ชาวประมงจับกุ้งได้เพิ่มขึ้น จากเดิมจับได้ประมาณ  40 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน หลังทำซั้งเชือกได้กุ้งประมาณ  80-120 กิโลกรัมต่อลำต่อวัน รูปแบบนี้ทำให้มีแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตวน้ำเพิ่มขึ้น จึงทำเพิ่มอีก

กระบวนการและการมีส่วนร่วมของชุมชนและหน่วยงาน
มีการประชุมหารือกันภายในกลุ่ม มีการให้ความรู้ความเข้าใจการฟื้นฟูทรัพยากรกับสมาชิกกลุ่มทุกครั้งที่มีการประชุม และนัดหมายกันทำร่วมกัน มีการประสานกับทหารเรือให้การขออนุญาติวางซั้งเชือก และดำน้ำสำรวจสัตว์น้ำบริเวณซั้งเชือก

ปัญหาอุปสรรค และการแก้ไข
1.สมาชิกกลุ่มมีภาระกิจในการทำมาหากิน ทำให้แบ่งเวลามาร่วมเตรียมซั้งเชือกไม่เต็มที่ ทำให้แกนนำทำเองเป็นหลัก
2. การลักลอบตัดทุ่นลอยทิ้ง และเรือประมงใช้เครื่องมือทำลายล้าง เช่น เรือลากแขกลากทั้งเครื่องมือและสัตว์น้ำไปจนเกือบหมด ทำให้สมาชิกกลุ่มขาดกำลังใจในการทำกิจกรรมฟื้นฟู พยายามให้กำลังใจกันไม่ย่อท้อและจะทำต่อไป
3. เจ้าหน้าที่รัฐขาดการเอาจริงเอาจังกับการทำประมงผิดกฏหมาย

ปัจจัยที่ทำให้มีการดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง
1.วัตถุประสงค์การในรวมกลุ่มของชาวประมงเพื่อฟื้นฟูทรัพยากร สร้างความสามัคคีและลดความขัดแย้งชาวประมง จึงได้รับความร่วมมือในการทำกิจกรรม
2.ผู้นำมีความเสียสละและอดทน ไม่ย่อท้อ
3.มีการทดลองพัฒนาเครื่องมือฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยการสังเกตุและอาศัยประสบการณ์ ความรู้จากการทำประมงมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนารูปแบบเครื่องมืออนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำ

แผนในการดำเนินการต่อไป
1. ประกาศเขตอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรและกำหนดกติกาการทำประมงบริเวณเขตอนุรักษ์ ได้หารือคนในชุมชนเห็นด้วย แต่ชาวประมงพื้นที่อื่นไม่เห็นด้วยทำให้ยังประกาศเขตอนุรักษ์ไม่ได้
2. จมเรือที่ปลดระวางแล้วเพื่อเป็นบ้านปลาอีกจำนวน 5 ลำ และป้องกันเรือลากแขก เรือทำจากไม้สามารถย่อยสลายได้และกลายเป็นอาหารหน้าดิน เช่น ปลาเก๋า ปลาเก๋ย และปลากระพง

Scroll to Top